ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐบาลเตรียมโอนสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนให้สปสช.ดูแล คาดเห็นผลในปี 57 ชี้มีความถนัดมากกว่า และจะช่วยทำให้สปส.ทำงานคล่องตัวขึ้น เพราะดูแลแค่สิทธิประโยชน์สวัสดิการสังคมอื่นๆ ภายหลังเกษียณอย่างเดียว แนะปรับระบบประกันสังคมใหม่ รองรับสังคมผู้สูงอายุด้วย ทั้งเพิ่มอายุเกษียณ ขยายการลงทุนให้ได้ผลกำไรมากกว่า 6% และแรงงานจ่ายสมทบ 5% ทุก 5 ปี หากไม่แก้ไขงบอาจบานปลายถึง 4.3 แสนล้านบาท

วันนี้ (7 ต.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) บรรยายเรื่อง “การคลังสาธารณสุขเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ” ในการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2557 ว่า ขณะนี้ประเทศที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกคือ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และไทย ซึ่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่น่าห่วงคือ ระบบประกันสังคม เพราะแม้แต่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าไว้หลายสิบปีก็ยังประสบปัญหา คือ ระบบไม่สามารถจัดหาเงินมาดูแลผู้สูงอายุหลังเกษียณได้ รัฐบาลจึงต้องกู้เงินประมาณปีละ 10% เพื่อนำมาดูแลผู้สูงอายุ ประเทศไทยก็เช่นกัน หากไม่มีการเตรียมพร้อมและทำนโยบายเพื่อแก้ปัญหา รัฐบาลอาจจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งคาดประมาณว่าในปี 2595 จะต้องใช้งบประมาณในส่วนของระบบประกันสังคมสูงถึง 4.3 แสนล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
       
“ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยอยู่ที่ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่หากยังปล่อยให้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยที่ไม่มีการแก้ไขก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2.5% - 10% ของจีดีพี ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท จะต้องหางบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท จึงจะเพียงพอในการดูแลผู้สูงอายุ” ดร.คณิศ กล่าว
       
ดร.คณิศ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาเบื้องต้นคือ 1.ต้องเพิ่มอายุเกษียณของระบบประกันสังคมจาก 55 ปี เป็น 60 ปี 2.ขยายรูปแบบการลงทุน โดยจะต้องได้ผลตอบแทนกลับคืนมาจาก 4% เพิ่มเป็น 6% ระบบจึงจะมั่นคงขึ้น และ 3.แรงงานจะต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มโดยทุก 5 ปี จ่ายสมทบเพิ่มขึ้น 5% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประกันสังคมต้องทำหน้าที่หลายด้าน ทั้งหาเงินเข้าระบบ การจ่ายเงินสวัสดิการต่างๆ ภายหลังเกษียณ รวมถึงดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลด้วย จึงเสนอว่าเพื่อให้การบริหารจัดการคล่องตัวขึ้น ควรให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้ามาดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลของสิทธิประกันสังคม โดยโอนค่าหัวประกันสังคมที่รัฐบาลให้เท่ากับค่าหัวของ สปสช.มาให้ สปสช.บริหารจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ สปสช.มีความถนัดมากกว่าประกันสังคม เพราะเมื่อถึงเวลาเกษียณกลุ่มคนประกันสังคมก็ต้องเข้ามาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพฯอยู่แล้ว ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลก็ให้ประกันสังคมดูแลเช่นเดิม ซึ่งขณะนี้ก็กำลังหารือเรื่องดังกล่าวกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อยู่ คาดภายในปี 2557 เรื่องนี้น่าจะเห็นผล
       
ดร.คณิศ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะต้องปรับวิธีคิดด้วย คือจากเดิมจะเพิ่มการให้บริการตามจำนวนผู้สูงอายุ เช่น สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ เตียง ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งไม่มีวันเพียงพอ เพราะผู้สูงอายุจะมีการเข้าโรงพยาบาลมากกว่าเดิม เช่น จากปีละ 3 ครั้ง เพิ่มเป็น 6 ครั้ง การนอนโรงพยาบาลก็ยาวนานขึ้น ทำให้เตียงไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยปกติทั่วไป ทั้งที่ความจริงแล้วผู้สูงอายุไม่ได้อยากนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล แต่ผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจในการนอนโรงพยาบาลคือลูก ตรงนี้ต้องปรับใหม่โดยต้องจัดระบบรองรับ 3 ระดับคือ การดูแลผู้สูงอายุจากที่บ้าน โดยมีชุมชนช่วยดูแล จึงค่อยเข้าสู่สถานพยาบาลตามลำดับ ซึ่งล่าสุด นายกรัฐมนตรีก็เสนอให้สำรวจบ้านผู้ป่วยให้เหมาะแก่การพักฟื้นด้วย

ที่มา : www.manager.co.th