ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ - ขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการเตรียมความพร้อมในการรับมือ เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีบทเรียนจากหลายๆ ประเทศ แม้แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความพร้อมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อย่างประเทศญี่ปุ่นยังประสบปัญหา แม้ว่าจะมีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นเวลานับสิบปี โดยแต่ละปีต้องนำงบประมาณจำนวนมากของประเทศมาใช้ในการดูแลประชากรผู้สูงอายุนี้

กองทุนประกันสังคมดูเหมือนว่าเป็นหนึ่งในกองทุนที่เป็นปัญหาและได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนี้ ในการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2557 โดย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นได้ประสบปัญหาภาระจากกองทุนประกันสังคมนี้เช่นกัน มีการกู้เงิน 10% ของงบประมาณประเทศเพื่อแก้ไข และจากการศึกษาหากเรายังปล่อยให้ระบบประกันสังคมดำเนินการไปอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เชื่อว่าไม่เพียงแต่จะกลายเป็นกองทุนที่เป็นภาระงบประมาณต่อประเทศ แต่ยังหมายถึงการส่งผลต่อความยั่งยืนกองทุน โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2596 ภาระจากปัญหากองทุนประกันสังคมนี้อาจพุ่งขึ้นไปสูงถึง 4.3 แสนล้านบาท

ดังนั้นที่ผ่านมาจึงมีข้อเสนอเพื่อทำให้กองทุนมีความยั่งยืน คือ 1.การขยายอายุเกษียณผู้ประกันตนจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ซึ่งนอกจากเป็นการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนเพิ่มแล้ว ยังเป็นการชะลอการจ่ายเงินบำนาญ และ 2.การขยายรูปแบบการลงทุนเพื่อให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องได้ผลตอบแทนถึง 6% ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหา

นอกจากนี้ "การโอนการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลของระบบประกันสังคมมายังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)" เป็นอีกข้อเสนอหนึ่งที่เห็นว่าต้องดำเนินการ เนื่องจากมองว่าค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่ต้องสูงขึ้นแน่นอนเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะแม้แต่ปัจจุบันที่เรายังไม่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบ งบประมาณรักษาพยาบาลของประเทศได้ขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันเราใช้เงินค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ 2% ของจีดีพี จะขยับไปอยู่ที่ 2.5% และ 3% ของจีดีพีและหากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการใช้บริการจะเพิ่มมากขึ้น จากเฉลี่ยการเข้าใช้บริการในสถานพยาบาล 3 ครั้งต่อคนต่อปี อาจขยับขึ้นไป 6 ครั้งต่อคนต่อปี ด้วยเหตุนี้อาจทำให้ค่ารักษาพยาบาลภาพรวมประเทศขยับหลุดขึ้นไป 10% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตามแม้ว่า กองทุนประกันสังคมจะให้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลเพียงแค่อายุเกษียณเท่านั้น แต่หลังจากนั้นภาระการรักษาพยาบาลจะตกกลับมาอยู่ที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องแบกรับภาระ จึงควรมีการจัดเตรียมระบบเพื่อรับมือกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น โดยปัจจุบันกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้งบการรักษาอยู่ที่สองแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งหากไม่มีการเตรียมการใดๆ คาดว่า รัฐบาลเองคงต้องหางบมาให้ สปสช.อีกแสนล้านบาท เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่โอนมาทั้งหมด

สำหรับเรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นหลายปีแล้วและทุกครั้งจะมีการต่อต้าน แต่ในครั้งนี้ ดร.คณิศ ระบุว่า มีความคืบหน้าที่เป็นไปได้ เนื่องจากปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลทั้งสองกองทุนไม่มีความแตกต่างกันมากนัก และที่สำคัญเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกับแล้วระดับรัฐมนตรี เชื่อว่าในต้นปี 2557 นี้ อาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 8 ตุลาคม 2556