ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประดิษฐเตรียมตั้งคกก.ร่วม สธ. ก.แรงงาน มท. สมช. ดูแลแรงงานต่างด้าวครบทุกมิติ รองรับเออีซี ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ย้ำนอกจากให้ความสำคัญเรื่องสาธารณสุขชายแดนแล้ว ยังดูแลเรื่องการกระจายของรพ.ในเขตเมือง พบกทม.มีปัญหามากสุด การกระจายตัวไม่ดี แม้มีรพ.ขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่มีเครือข่าย เตรียมหารือกทม.ขยายหน่วยบริการเครือข่าย

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง การแพทย์ไทยจะไปทางไหนในยุคประชาคมศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ว่า ปัจจุบันระบบสาธารณสุขของไทยต้องดูแลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานปีละ 250 ล้านบาท โดยต้องจ่ายไปฟรีๆ ซึ่งตรงนี้แม้จะต้องรักษาตามหลักมนุษยธรรม แต่ก็ต้องมีการป้องกันไม่ให้ค่าใช้จ่ายพุ่งสูงขึ้น เพราะจะส่งผลต่อประชากรไทยได้ อีกทั้ง หากไม่ดูแลก็จะส่งผลต่อคนไทยอาจได้รับการแพร่กระจายโรคต่างๆ อีก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวพร้อมผู้ติดตามที่เข้ามาอย่างแอบแฝงมีประมาณ 3 ล้านคน มีเพียงกว่า 1 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ดังนั้น จะต้องหาทางรับรองสถานะกลุ่มคนแอบแฝงให้ขึ้นทะเบียนถูกต้องให้ได้ เพื่อที่จะได้ให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพในราคาประมาณ 2,000 กว่าบาท ขณะที่เด็กอยู่ที่ 365บาท

"สำหรับการรับรองสถานะแรงงานกลุ่มนี้ จะต้องทำงานร่วมกัน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย(มท.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยจะจัดทำเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะเสนอคณะรํฐมนตรี(ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งจะตั้งเป็นคณะกรรมการดูแล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้มีการทำงานและแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง" นพ.ประดิษฐ กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สธ.ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะพื้นที่ชายแดน หรือรองรับเออีซีเท่านั้น ในส่วนของพื้นที่กทม. จากการตรวจสอบพบว่า ยังมีปัญหาในเรื่องการกระจายตัวของสถานพยาบาลที่ดูแลคนกทม.อยู่ เบื้องต้นได้หารือกับทาง กทม. ถึงเรื่องดังกล่าวว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการกระจายตัวของสถานพยาบาลมากขึ้น เพราะเท่าที่ทราบบริเวณลาดกระบัง กับหนองจอก ยังขาดสถานพยาบาล หรือแม้แต่สถานีอนามัยก็ยังน้อย โดยการหารือกับกทม. จะร่วมกันในการกระจายหน่วยบริการเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลคนในแต่ละพื้นที่ให้ได้รับการบริการอย่างทั่วถึง

"ส่วนใหญ่รพ.ในสธ.จะกระจายตัวมากในพื้นที่ต่างจังหวัด ในกทม.แม้จะมีรพ. แต่ก็เป็นรพ.ของกรมการแพทย์ ซึ่งเน้นวิชาการ ไม่มีเครือข่ายมากนัก จึงจะร่วมกับกทม.ในการขยายหน่วยบริการตรงนี้ " รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าว