ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก ประจำปี 2013 (Global Alcohol Policy Conference 2013: GAPC) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ที่เครือข่ายแอลกอฮอล์ระดับโลก (Global Alcohol Policy Alliance: GAPA) จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสังคม สาธารณสุข จากระดับชาติสู่ระดับโลก (Alcohol Civil Society&Public Health from Local&National Action to Global Change) ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม ถึงเวลาต้องปิดฉาก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ประชุมได้พร้อมใจกันออก "ปฏิญญากรุงโซล" จำนวน 14 ข้อ เพื่อผลักดันให้ประเทศต่างๆ ได้กำหนดมาตรการรองรับยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ในปี 2010 เพื่อลดปัญหาและอันตรายจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศของตัวเอง

นายเดวิท เจอร์นิแกนท์ ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก และคณะกรรมการเครือข่ายแอลกอฮอล์ระดับโลก กล่าวถึงปฏิญญาทั้ง 14 ข้อ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันให้ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก หลังจากประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2553 โดยให้กำหนดแนวทางปฏิบัติในปี 2556-2669 เพื่อลดปัญหา และอันตรายจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศของตัวเอง มีเป้าหมายลดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ของการบริโภคต่อหัวของประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งมีการเข้าถึงแอลกอฮอล์ง่ายขึ้นจากนโยบายโฆษณาของบริษัทแอลกอฮอล์ โดยข้อเรียกร้องที่สำคัญที่เรียกร้องให้ ประเทศสมาชิก รัฐบาล ภาคประชาสังคม และองค์กรที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม คือ ให้รับประกันว่าข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะไม่ขัดขวางการดำเนินนโยบายของประเทศต่างๆ ในการพยายามลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งเรื่องของการกำหนดราคาขั้นต่ำ มาตรการทางด้านภาษี รวมทั้งการจำกัดการเข้าถึง

"ทุกประเทศต้องกำหนดให้เรื่องของแอลกอ ฮอล์เป็นวาระแห่งชาติ และภาคประชาสังคมต้องมีความเข้มแข็งระหว่างการร่วมมือกันและดำเนินการอย่างเป็นอิสระจากองค์กรต่างๆ นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อเรียกร้องที่สำคัญ คือ การเรียกร้องไม่ให้บริษัทแอลกอฮอล์ข้ามชาติเข้าแทรกแซงภาครัฐหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้มแข็งของความพยายามของกลุ่มประชาสังคมและองค์กรเพื่อลดอันตรายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" นายเดวิท กล่าว

ด้าน ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ความคืบหน้าในครั้งนี้จะลงลึกไปถึง การเรียกร้องสำหรับการลงมือทำ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์แอลกอฮอล์ที่ สสส.กำลังผลักดัน รวมทั้งเน้นเรื่องการปฏิบัติการมากขึ้น เรื่องหนึ่งที่ฝ่ายสุขภาพเรียกร้องคือ เรื่องของเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่จะทำให้ราคาสินค้าในบัญชี รายชื่อไม่มีกำแพงภาษี ซึ่งจะทำให้สินค้าจะเข้ามาในประเทศมากขึ้น สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ก็จะทำให้มีการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น ข้อเรียกร้องคือ ให้รัฐบาลทั่วโลกตระหนักถึงสุขภาพของประชาชนมากกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังต้องมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งเพื่อการต่อรองกับรัฐบาล

"เราจะนำแนวทางปฏิบัติที่ภาคประชาสังคม จากงานวิจัยของนักวิชาการไปสู่รัฐบาลของแต่ละประเทศ คือ บัญชีการเจรจา เอฟทีเอ ไม่ควรมีบัญชีของสินค้าแอลกอฮอล์อยู่ในการเจรจา เพราะไม่ใช่สินค้าปกติ ซึ่ง เหล้า บุหรี่ ไม่ควรเป็นสินค้าที่ถูกที่สุด แต่ควรจะแพงในระดับหนึ่งด้วยซ้ำ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การนำสินค้าแอลกอฮอล์ออกจากเอฟทีเอ" ทพ.สุปรีดากล่าว และว่า แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องมีมาตรการคุ้มครองประชากรไทยจากผลกระทบ เช่น ห้ามการโฆษณา จำกัด พื้นที่โฆษณา หรือจำกัดความชุกของร้านค้า เป็นต้น

ขณะที่ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า หากมีการ นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่เอฟทีเอ จะส่งผลให้แอลกอฮอล์มีราคาถูกลง จากการศึกษาพบว่า การลดภาษีทำให้มีการดื่มเพิ่มขึ้น เช่น ฮ่องกง เมื่อลดภาษี ทำให้มีอัตรา ผู้ที่ดื่มอยู่แล้วดื่มมากขึ้น และมีจำนวน นักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น จากประสบการณ์ของการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) ที่มีการลดภาษีสุราที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนจากร้อยละ 60 เหลือเพียงร้อยละ 5 ทำให้ปริมาณการนำเข้าแอลกอฮอล์จากประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 500 ฉะนั้น หากเราเปิดเอฟทีเอเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้การนำเข้ามีปริมาณเพิ่มขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 10 ตุลาคม 2556