ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอประดิษฐเอาใจชาว กทม.เข้าไม่ถึงสิทธิรักษาพยาบาล เตรียมตั้ง "คลินิกปฐมภูมิ-รพ." เพิ่ม เตรียมเก็บเงินประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ส่วนประกันนักท่องเที่ยวต่างชาติ เน้นเก็บกลุ่มเดินเท้า นั่งรถเข้าชายแดน ยันเรตไม่แพง

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การแพทย์ไทยจะไปทางไหนในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ว่า ในประเทศไทยตอนนี้มีปัญหาเรื่องการ กระจายบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยในอีสานจะมีจำนวนแพทย์น้อยกว่าค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ในเขต กทม.เองยังพบปัญหาประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อยามากินเองถึง 72.8% สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ ซึ่งปัญหาเกิดจากไม่มีการกระจายตัวของโรงพยาบาล หน่วยบริการไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่เมื่อมองในภาพรวมดูเหมือนจะมีความพร้อมทุกอย่าง ตัวอย่างเช่น พื้นที่ลาดกระบัง และหนองจอก

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สธ.จะดูแลหน่วยบริการทั่วประเทศ ยกเว้นพื้นที่ กทม. ซึ่งจะมี กทม.เป็นผู้ดูแลอยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหน่วยบริการไม่เพียงพอ ทาง สธ. จะต้องกระตุ้นให้ กทม.สร้างหน่วยบริการเพิ่มมากขึ้น แต่การปรับสร้างตรงนี้อาจจะไม่รวดเร็วอย่างที่คิด ดังนั้น สธ.จึงจะเป็นตัวเสริมโดยการสร้างหน่วยบริการให้มากขึ้น ทั้งระดับคลินิกปฐมภูมิ และโรงพยาบาลเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนงาน

นอกจากนี้ นพ.ประดิษฐยังกล่าวถึงการดูแลแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่ขณะนี้มีแรงงานแอบแฝงในไทยพร้อมผู้ติดตามประมาณ 3 ล้านคน แต่มีเพียง 1 ล้านคนเท่านั้นที่ขึ้นทะเบียน ทำให้ประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลคนกลุ่มนี้ฟรีๆ ปีละ 250 ล้านบาท ดังนั้น ทาง สธ.จึงได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย แรงงาน คลัง ในการดูแลขึ้นทะเบียนแรงต่างด้าวพร้อมกับการบังคับให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพในราคาประมาณ 2,000 บาท โดยจะออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ นอกจากนี้ยังได้มีการหารือกันถึงแนวทางในการเก็บเงินประกันสุขภาพนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างระเบียบ คาดว่าในเร็วๆ นี้น่าจะสามารถประกาศใช้ได้ เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินเท้า หรือนั่งรถทัวร์ นั่งรถสองแถวเข้ามาตามแนวชายแดน คาดว่าอัตราที่เก็บคงไม่แพง ประมาณ 500 บาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 10 ตุลาคม 2556