ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณีที่กรมบัญชีกลางมีประกาศให้การรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและผู้มีสิทธิ โรงพยาบาลสามารถบวกกำไรยาชื่อสามัญได้สูงสุด 200% และคิดกำไรส่วนเพิ่มสำหรับยาต้นแบบได้ไม่เกิน 3% แต่ไม่เกินราคากลาง และจะให้ใช้กำไรที่ได้เพื่อเป็นเงินสนับสนุนการดูงานต่างประเทศของหมอในโรงพยาบาลของรัฐ

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า โรงพยาบาลทุกแห่งรู้ดีว่า ยาชื่อสามัญเป็นยาที่มีคุณภาพและให้ผลการรักษาไม่ต่างจากยาต้นแบบ แต่ที่ผ่านในระบบการเบิกจ่ายยาของระบบสวัสดิการข้าราชการ เปิดช่องให้แพทย์และโรงพยาบาลสามารถเลือกที่จะจ่ายยาชนิดเดียวกันที่เป็นยาต้นแบบ แต่มีราคาแพงกว่ามากให้กับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิข้าราชการได้

 “กรมบัญชีกลางเดินมาถูกทางแล้ว ซึ่งแนวทางนี้เป็นการลดความเหลื่อมล้ำของระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการใช้ยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยในโรงพยาบาล ช่วยประหยัดงบประมาณด้านยาของกระทรวงการคลัง ที่เคยจ่ายให้กับยาต้นแบบที่มีคุณภาพเท่ากันแต่ราคาแพงกว่าหลายเท่า” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว

“สำหรับข้อกังวลเรื่องคุณภาพของยาที่ไม่เท่ากันนั้น ไม่ว่าจะเป็นยาชื่อสามัญ ยาต้นแบบ ยาผลิตในประเทศ ยานำเข้าจากประเทศ ยาราคาถูกหรือยาราคาแพง ย่อมต้องผ่านการตรวจสอบ ขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองคุณภาพและความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน”  นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว

นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่าประเทศไทย มีปัญหาเรื่องการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลมานาน ปรากฎเห็นชัดในระบบสวัสดิการข้าราชการ ที่ใช้งบประมาณในการรักษามากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถึง 5 เท่า ทำให้ประเทศเสียงบประมาณไปกับยาที่ไม่สมเหตุผล โดยส่วนใหญ่เป็นยาต้นแบบ ทั้งที่ยาตัวเดียวกันนั้นมีชื่อสามัญที่คุณภาพเท่ากัน แต่ราคาถูกว่ามากให้เลือก แต่ที่ผ่านมาแพทย์มักจะเลือกจ่ายยาต้นแบบให้กับข้าราชการและผู้มีสิทธิ อาจจะเป็นเพราะความคุ้นเคย สิ่งตอบแทน หรือสิ่งจูงใจอื่นใด ในภาพรวมทำให้ประเทศเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็นไปกับยาต้นแบบ ราวปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท