ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ดวงรัตน์ จรัสพันธ์ หมออนามัย ผอ.รพ.สต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

Hfocus -ความกดดันของ “หมออนามัย” ที่อัดแน่นคับแค้นตลอด 80 ปี ตั้งแต่ก่อกำเนิด “สุขศาลา” ก่อนผันกลายมาเป็น “สถานีอนามัย”และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ถูกคลี่คลายออกเมื่อ 2 ต.ค. 2556 ในนาทีที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ 382 เสียง ผ่าน พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน

นั่นหมายถึง “หมออนามัย” จะถูกรับรองตามกฎหมายให้มีสถานะเป็น 1 ใน 8 วิชาชีพด้านสาธารณสุข

“หมออนามัย” อาจไม่เป็นที่คุ้นชินกับคนเมืองหรือผู้มีเศรษฐานะทางสังคม ทว่าใน “ชุมชน-ชนบท” หมออนามัยอาจเป็นที่พึ่งเดียวยามล้มหมอนนอนเสื่อ

การแบกรับความคาดหวังและภาระงานอันหนักอึ้งของ “หมออนามัย” ถูกฉายภาพผ่าน ดวงรัตน์ จรัสพันธ์ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ปัจจุบัน รพ.สต.แห่งนี้ มีสมาชิกอยู่ทั้งสิ้น 4 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการรพ.สต. ซึ่งเป็นนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 2 คน และทันตภิบาล 1 คน

 “ปัจจุบันอยู่กัน 4 คน ต้องดูแลคนไข้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 50 คน” ดวงรัตน์ เล่า หากเทียบเคียงอัตราผู้ป่วยต่อผู้ให้บริการแล้ว 1 ต่อ12 อาจจะดูน้อย แต่หากเทียบเคียงภาระงานในแต่ละวันแล้ว ใครหลายคนอาจคาดไม่ถึง  

บทบาทหน้าที่หลักของ “หมออนามัย” แบ่งออกเป็น 4 มิติ ได้แก่ การรักษาพยาบาล การควบคุมโรค การส่งเสริมป้องกันโรค และการฟื้นฟู

“ตื่นขึ้นมาก็ต้องมาตรวจคนไข้ วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก เย็บแผล ทำแผล ฉีดยา จ่ายยา หากผู้ป่วยมีอาการหนักก็ต้องเรียกหน่วยกู้ชีพมารับ ส่งต่อไปที่โรงพยาบาลแม่ข่าย แต่ละวันต้องทำงานตั้งแต่ 8.30-16.30 น. แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้าเป็นงานรักษา ช่วงบ่ายเป็นการเยี่ยมบ้าน เราจะผลัดกันอยู่เวรต่อจาก 16.30-20.30 น. ของทุกวันด้วย”

ดวงรัตน์ เล่าว่า แต่ละวันเฉลี่ยแล้วมีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 50 คน ที่มารอตั้งแต่เช้ามืด มีทั้งอาการปวดหัว ป่วยไข้ เจ็บคอ เป็นแผล ฉีดยาคุม ให้น้ำเกลือ มันมีทุกรูปแบบ คือทุกโรคที่คนไข้ไม่ต้องการไปโรงพยาบาล อนามัยจะต้องรับเองทั้งหมด

“หมออนามัยต้องทำหมดทุกอย่าง ถ้าไม่ทำงาน ไม่ยอมรักษาหรือหลีกเลี่ยงบ่ายเบี่ยงการรักษาก็จะอยู่ในพื้นที่ไม่ได้ ชาวบ้านจะขับไล่ โดยทุกวันนี้ชาวบ้านจะเรียกเราว่า “พ่อหมอ-แม่หมอ” คือเขาเห็นเรามาตลอดเป็น 10-20 ปี ก็อยู่กันมาเหมือนญาติพี่น้อง”

“หมออนามัยทุกคนทำงานด้วยใจเพราะค่าตอบแทนน้อยมาก ตามขั้นของระบบราชการ เป้าหมายของหมออนามัยคือต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือที่ผ่านมาหมออนามัยไม่มีกฎหมายรองรับสถานะ ไม่มีสภาวิชาชีพคอยกำกับดูแลหรือปกป้อง ไม่มีอะไรเลย หากเกิดความผิดพลาดในการรักษาซึ่งแน่นอนว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ ถามว่าจะเป็นอย่างไร หมออนามัยก็ถูกฟ้องร้อง มันเหมือนทุกวันนี้ทำงานไป ขาเหยียบเข้าคุกแล้วข้างหนึ่ง”

ดวงรัตน์ เล่าอีกว่า มีหลายคนที่ตั้งใจจะรักษาผู้ป่วยแต่กลับต้องมาติดคุกฟรี ถามว่าหมออนามัยจะทำยังไงในเมื่อคนไข้ร้องโอดครวญอยู่ตรงหน้า มันก็ต้องทำ ต้องให้การรักษาเท่าที่ทำได้

“พี่เอาคนไข้ช็อกกลับคืนมาได้ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคนแล้ว ขืนปล่อยให้เขาไปโรงพยาบาลก็คงไม่รอด หรือเย็บแผลจากอุบัติเหตุบางรายถึงร้อยๆ เข็ม เย็บตั้งแต่ 2 ทุ่ม ถึงตี 4 ก็ทำมาแล้ว พวกนี้มาจากประสบการณ์ล้วนๆ พี่ทำมา 28 ปีแล้ว”

นอกจากภารกิจรักษาพยาบาลแล้ว “งานควบคุมโรค” ก็เป็นหน้าที่หลักที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน “หมออนามัย” ทุกคนต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจทำอย่างไม่เคยปริปากบ่น

“โรคระบาดทั้งหมดที่เกิดขึ้นเรามีหน้าที่ต้องหยุด ทั้งโรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก อหิวาตกโรค และอีกหลายต่อหลายโรค โดยแต่ละโรคมีเงื่อนไขเวลาที่แตกต่างกัน เช่น โรคอหิวา เราต้องเข้าไปสอบสวนโรคภายใน 3 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นจะเกิดการระบาดใหญ่ เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออกที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 3 วัน ถ้าเราควบคุมไม่อยู่จะลามติดกันทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล”

“มันไม่ง่ายเลยเพราะคนมีอยู่เท่านี้ เมื่อได้รับแจ้งว่ามีผู้ป่วยยืนยันแล้วว่าเป็นโรคระบาดและอยู่ในพื้นที่เรา สิ่งแรกที่ต้องทำคือเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อสอบสวนโรค เราต้องไปดูว่าเขากินอะไร กิจวัตรเป็นอย่างไร ใกล้ชิดกับอะไร อยู่ในบ้านที่มีลักษณะอย่างไร อะไรคือความเสี่ยง อะไรคือสัญญาณของโรค”

“นอกจากนี้ เรายังต้องระดมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั้งหมดเข้าไปช่วยเหลือ เข้าไปฆ่าเชื้อ เข้าไปให้ความรู้ ขณะเดียวกันหมออนามัยก็ต้องทำหนังสือประชาสัมพันธ์ไปให้กับผู้นำชุมชนว่าตอนนี้มีการระบาดของโรคอยู่ ต้องเตรียมการอย่างไร ตั้งรับป้องกันอย่างไร”

“ตอนอหิวาต์ระบาด เชื่อไหมพี่ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย ทั้งอีนาบ้า โอกาว่า โอ139 พี่เจอมาหมดแล้ว หรืออย่างตอนโรคฉี่หนูระบาดก็ต้องรณรงค์ให้ชาวบ้านใส่รองเท้าบู๊ท ต้องให้ความรู้เรื่องอาการความเสี่ยง หรือตอนโรคไข้เลือดออกระบาดก็ต้องประสานไปยังหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน เพื่อฉีดพ่นยากันยุง”

สำหรับ “งานส่งเสริมป้องกันโรค” นั้น หมออนามัยก็ต้องทำอย่างเคร่งครัดตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งการเจาะเลือด ตรวจเบาหวาน ความดัน หลอดเลือดสมอง คัดกรองความเสี่ยง ชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอว

“พี่ต้องทำบีเอ็มไอ ถ้าพบคนที่มีรอบเอวเกินก็ต้องเอามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องไปสอนเขา หรือในแต่ละสัปดาห์ต้องจัดตารางให้ครบภารกิจ เช่น ทุกวันอังคารจะฉีดวัคซีนและขูดหินปูนให้กับนักเรียนชั้น ป.1 และ ป.6 หรือบางสัปดาห์ต้องจัดคิวฉีดวัคซีนสามัญมาตรฐานตามช่วงอายุให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ทุกวันพุธต้องรับฝากท้อง เจาะเลือดตรวจครรภ์ ในวันนั้นก็ต้องตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านมควบคู่ไปด้วย”

นี่ยังไม่นับงานฟื้นฟู ที่ต้องดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ทำกิจกรรมการออกกำลังกาย ไปเยี่ยมบ้าน

“มันเหนื่อยนะ คนก็มีกันอยู่แค่ 4 คน เราก็ทำกันเต็มที่ แต่ไม่วายยังโดนคนนอกด่าอีก บอกไอ้พวกนี้มันหมอเถื่อน ไม่มีความรู้ ไม่มีมาตรฐานวิชาชีพ รักษาไปคนไข้ก็ตาย มาเหยียดมาดูถูกดูแคลน ทั้งคำพูด สีหน้า ท่าทาง ทั้งๆ ที่พวกเราแค่อยากรักษาคนไข้ให้หาย แต่ชาวบ้านเขาไม่สนใจเขาเห็นเราเป็นหมอคนหนึ่งที่เขาพึ่งได้”

“ถ้ารพ.สต.หยุด 1 วัน ถามว่าประชาชนจะต้องเดินเข้าไปใช้บริการโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเท่าไร หนาแน่นขึ้นอีกขนาดไหน แพทย์พยาบาลต้องทำงานกันหนักขึ้นอีกเพียงใด ยังไม่นับความลำบากของประชาชนที่ต้องเดินทางไกลอีก บางพื้นที่ร่วม 70-100 กิโลเมตร จึงอยากให้เห็นใจและเคารพกันบ้าง”

“ทุกวันนี้กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยมาดูดำดูดีพวกเราเลย พอเราผลักดันให้มีพ.ร.บ.วิชาชีพฯ ของเราก็มาขัดขวาง พอเราให้การรักษา แพทย์ก็มาว่า พอเราทำแผล พยาบาลก็บอกไม่ใช่หน้าที่เรา พอเราเจาะเลือดวัดค่าต่างๆ พวกเทคนิคการแพทย์ก็มีปัญหาขึ้นมา เราฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าก็ถูกสัตวแพทย์ด่าซ้ำ ถามว่าทุกวันนี้พวกคนที่มาด่ามาตำหนิเรา เคยลงพื้นที่มาช่วยเหลือชาวบ้านกันบ้างหรือไม่”

“นี่แค่งาน 4 มิติ ที่คน 4 คนต้องช่วยกันทำ ยังไม่พูดถึงงานธุรการ งานเครือข่าย แค่นี้มันก็จะตายกันอยู่แล้ว เงินเดือนก็ได้ตามเกณฑ์ของข้าราชการ อย่างใน รพ.สต.ทุกวันนี้ 4 คน สลับหมุนเวียนทำงานแทนกันได้หมด ไม่สนว่าใครมีตำแหน่งหรือมาจากไหน แต่ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นคือมีเพียงพยาบาลที่ได้เงินค่าวิชาชีพเดือนละ 3,500 บาท เงินค่าเวชปฏิบัติได้อีก 1,500 บาท เงินเดือนอีกต่างหาก ส่วนคนอื่นๆ ไม่มีกฎหมายรองรับ ส่วนหมออนามัยไม่ได้อะไรเลย มันก็น้อยเนื้อต่ำใจ”

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนผ่านแล้ว ดวงรัตน์ เชื่อว่า ภายหลังที่กฎหมาย “หมออนามัย” ต้องพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานมากขึ้น จะต้องมีสภาวิชาชีพตามกฎหมาย มีการกำหนดพัฒนาการอบรมก่อนที่จะให้บริการประชาชนได้ หมออนามัยทุกคนต้องกลับมาสอบใหม่ ประชาชนก็จะได้รับบริการที่มีมาตรฐาน ส่วนตัวหมออนามัยเองก็ได้รับแรงจูงใจ มีสภาวิชาชีพควบคุมคนที่นอกลู่นอกทาง ได้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้ความเท่าเทียม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง