ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยรัฐ - นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมการแพทย์ (กลาง) พร้อมด้วย นพ.สรศักดิ์  โล่ห์จินดารัตน์ (ขวาสุด) พญ.ขวัญใจ วงศ์กิตติรักษ์  และผู้บริหารจากมูลนิธิเอสซีลอร์วิชั่น ฟาวน์เดชั่น ร่วมรณรงค์ตาบอดในเด็ก

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็น วันสายตาโลก World Sight Day ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 10 ต.ค. สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับ มูลนิธิเอสซีลอร์วิชั่น ฟาวน์เดชั่น จัดกิจกรรมรณรงค์มุ่งลดอัตราตาบอดในเด็กไทย ในงาน “โครงการลดอัตราตาบอดในเด็กไทย : Better Sight for Child” ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งมาเป็นประธานในงาน กล่าวว่า จากการสำรวจในช่วงปี 2549-2550 พบว่า ประชากรไทยมีความชุกของตาบอดร้อยละ 0.59 และสายตาเลือนรางร้อยละ 1.57 ส่วนโรคที่เป็นสาเหตุของตาบอดที่สำคัญ คือ โรคต้อกระจก, โรคต้อหิน, โรคของจอตา, โรคที่ทำให้ตาบอดในเด็ก และโรคของกระจกตา โรคตาเป็นโรคหนึ่งที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านจักษุวิทยา เพื่อลดอัตราสภาวะตาบอดและสายตาเลือนรางของประชากร ตามกรอบแนวคิด Vision 2020 ขององค์การอนามัยโลก

ทฤษฎี ตุลอนุกิจ จากบริษัท เอสซีลอร์ ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมอบแว่นที่เหมาะสมให้กับครอบครัวบุตรคำ

นอกจากนี้ นพ.สรศักดิ์ โล่ห์จินดารัตน์ รอง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า อัตราความชุกของสภาวะตาบอดในเด็กไทยอายุ 1-14 ปี คิดเป็นร้อยละ 0.11 เป็นอัตราที่สูงกว่าประมาณการขององค์การอนามัยโลกที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 0.04 สาเหตุของการตาบอดในเด็กไทยเกิดจากโรคจอตาในทารกคลอดก่อนกำหนด และภาวะสายตาผิดปกติ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข การแก้ไข จึงต้องมุ่งเน้นการควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุหลัก โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กที่มีปัญหาภาวะสายตาผิดปกติให้ได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ และได้รับแว่นตาอันแรกที่เหมาะสม เพื่อลดอัตราการตาบอดในอนาคต ด้าน พญ.ขวัญใจ วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานจักษุวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ กล่าวว่า สาเหตุของตาบอดในเด็กไทย 1 ใน 3 จากสายตาสั้นแล้วไม่ได้ใส่แว่นที่เหมาะสม โรคนี้ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์มากมาย แต่ต้องให้ความรู้และใส่ใจว่า ถ้าเด็กมีปัญหาต้องนำมาวัดสายตาและหาแว่นที่เหมาะสม และต้องมีการติดตามที่ดีด้วย ซึ่งเด็กไทยที่เป็นโรคตาบอดตาใส มีนับล้านๆ คน ที่ได้ใส่แว่นที่เหมาะสมมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น

ในงานยังได้พา “ครอบครัวบุตรคำ” คือ น้องโต๋ว–กันต์อเนก บุตรคำ อายุ 7 ขวบ เป็นโรคสายตาขี้เกียจ มาร่วมพูดคุยด้วย โดย คุณแม่

วิภา บอกว่า ลูกเป็นเด็กปกติ แต่ชอบดูทีวีใกล้ๆ แล้วเอามือลูบนัยน์ตา ทีแรกไม่ได้เอะใจ จนกระทั่งเข้าเรียนอนุบาล 2 คุณครูบอกว่า ลูกเขียนงานช้ากว่าคนอื่นๆ และต้องเพ่งกระดาน จึงได้พามาหาคุณหมอ พบว่าลูกเป็นโรคสายตาขี้เกียจ หากไม่ได้รับการรักษาที่ดี อาจทำให้เด็กตาบอดได้ในอนาคต ตอนนี้มองเห็นปกติแต่ต้องสวมแว่นที่เหมาะสมกับสายตาเขาด้วย.

ที่มา: http://www.thairath.co.th