ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - อย.เล็งคุมสาร'ไซลาซีน'จากยาอันตราย เป็นยาควบคุมพิเศษ หลังแก๊งคนร้ายใช้มอมคนไข้-ญาติตามโรงพยาบาล ปลดทรัพย์ นครบาลลั่น 7 วัน จับได้แน่

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึง ความคืบหน้าการจัดการสาร ไซลาซีน (Xylazine) ที่กลุ่มมิจฉาชีพนำไปผสม กับน้ำมอมคนไข้หรือญาติคนไข้เพื่อปลดทรัพย์ ในโรงพยาบาลรัฐ ว่า ในวันที่ 15 ตุลาคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อหารือถึงการควบคุมสารชนิดนี้ เนื่องจากปัจจุบันถูกจัดให้เป็นยาอันตราย ที่จำหน่ายได้โดยเภสัชกร แต่เมื่อมีปัญหา และพวกมิจฉาชีพนำไปใช้ในทางที่ผิด จำเป็นต้องมีการหามาตรการควบคุมเข้มงวดขึ้น ซึ่งจะสอบถามทางปศุสัตว์และสัตวแพทย์ว่า ในเมื่อสารชนิดนี้มีความจำเป็นในแง่ของ การรักษาสัตว์ ในเรื่องการผ่าตัด แต่เมื่อมีปัญหาดังกล่าว หากจะยกระดับการควบคุมเป็น ยาควบคุมพิเศษ จากเดิมกำหนดเป็นยาอันตราย จะดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งคิดว่าไม่น่าติดอุปสรรคอะไร

"หากการประชุมในวันที่ 15 ตุลาคม สรุปยกระดับยาตัวนี้เป็นยาควบคุมพิเศษ ก็จะทำให้ในอนาคตต้องจำหน่ายเฉพาะโรงพยาบาลสัตวแพทย์ หรือคลินิกที่มีสัตวแพทย์เท่านั้น ส่วนร้านขายยาทั่วไปที่ผ่านมาอาจจำหน่ายได้ แต่ก็ไม่เยอะ ซึ่งในการประชุมจะพิจารณาว่าอาจไม่ให้จำหน่ายตามร้านขายยาอีก" นพ.บุญชัยกล่าว และว่า นอกจากนี้จะสอบถามทางสัตวแพทย์ด้วยว่าปกติการใช้สารตัวนี้หาซื้อจากร้านขายยาทั่วไป หรือซื้อตรงจากแหล่งผลิต เพื่อจะได้ทราบว่าจริงๆ มีการใช้ในลักษณะใดด้วย

วันเดียวกัน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมผู้บริหารโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ อาทิ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลสงฆ์ สถาบันมะเร็ง เป็นต้น ว่า ได้กำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทุกแห่งมีมาตรการเข้มเฝ้าระวัง ดูแลคนไข้ และญาติคนไข้ที่มาใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยมี 3 มาตรการหลัก คือ 1.กำชับคนไข้ และญาติคนไข้ทุกคนให้เฝ้าระวังภัย ไม่ดื่มน้ำหรือรับของรับประทานจากคนแปลกหน้า หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ที่อาจปลอมมา หากไม่แน่ใจให้ไปสอบถามที่แผนกที่มีเจ้าหน้าที่นั่งประจำอยู่ในแต่ละตึก

นพ.สุพรรณกล่าวอีกว่า 2.มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตึกของทุกแผนกคอยตรวจตรา สอดส่องหากพบคนแปลกหน้า หรือมีท่าทีพิรุธให้เฝ้าระวัง หากพบการกระทำผิดให้รีบเข้าช่วยเหลือและดำเนินการทางคดีทันที และ 3.มอบหมายให้ทุกโรงพยาบาลไปตรวจตรากล้องวงจรปิดทุกกล้องว่าที่ผ่านมาพบปัญหาลักษณะนี้หรือไม่ และต้องตรวจกล้องอย่างต่อเนื่อง จึงขอฝากคนไข้และญาติคนไข้ทุกคน ไม่ต้องกังวลเมื่อมาใช้บริการทางโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ได้มีมาตรการเฝ้าระวังมาโดยตลอดและจะเข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ายสัตวแพทย์ (นสพ.) อลงกรณ์ มหรรณพ สัตวแพทย์อาวุโสผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ป่า กล่าวว่า ไซลาซีน เป็นยาสลบชนิดหนึ่งที่สัตวแพทย์ใช้กับสัตว์ใหญ่ คือ ช้าง ม้า วัวแดง กระทิง ลิงชิมแปนซี อุรังอุตัง และกอริลลา โดยยาชนิดนี้เป็นยาที่อันตรายมาก สัตวแพทย์ ที่ใช้ยาชนิดนี้กับสัตว์ตัวไหน จะต้องเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือกรณีที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเอาไว้เลย เช่น น้ำเกลือ ยาแก้ และอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ เพราะสัตว์อาจจะช็อกตายทันทีที่ใช้ยาตัวนี้ได้ ไซลาซีนเป็นยาที่มีฤทธิ์ควบคุมประสาทส่วนกลาง ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ซึม ร่างกายหยุดการเคลื่อนไหว หากใช้ในปริมาณไม่เหมาะสมจะทำให้ระบบหายใจ และระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

"ยาชนิดนี้ไม่มีขายในร้านขายยาทั่วไป แต่จะขายเฉพาะในร้านขายยาที่ขายยารักษาสัตว์เท่านั้น คนที่จะซื้อได้คือสัตวแพทย์ที่มีใบ อนุญาตผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้น 1 เท่านั้น การนำไซลาซีนมาใช้แบบผิดประเภท เช่น ใช้กับคนหรือใช้กับสัตว์ แต่มีปริมาณมากเกินไปจะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ทันที" นสพ.อลงกรณ์กล่าว

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พ.ต.อ.ทรงพล วัธนะชัย รอง ผบก.น.1 พ.ต.อ. สุทิน ทรัพย์พ่วง รอง ผบก.สปพ. พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผกก.3 บก.สส.บช.น. พร้อมฝ่ายสืบสวน สน.พญาไท และฝ่ายสืบสวน สน.บางซื่อ ประชุมความคืบหน้าคดีคนร้ายก่อเหตุมอมยาและชิงทรัพย์สน.พญาไท และฝ่ายสืบสวน สน.บางซื่อ ประชุมความคืบหน้าคดีคนร้ายก่อเหตุมอมยาและชิงทรัพย์ในโรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลสงฆ์ โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง

พ.ต.อ.ทรงพลกล่าวว่า ออกหมายจับคนร้ายที่ก่อเหตุแล้วอยู่ระหว่างติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี เบื้องต้นคาดว่าคนร้ายเป็นแก๊งเดียวกัน มีไม่ต่ำกว่า 2 คน และก่อเหตุตามโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยขอเวลา 7 วัน คาดว่าจะจับกุมคนร้ายรายนี้ได้อย่างแน่นอน

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลสงฆ์ พบว่าเป็นคนร้ายรายเดียวกันและก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง ก่อน หน้านี้เคยก่อเหตุมอมยาผู้โดยสารตามสถานีขนส่งหมอชิตและหัวลำโพง อีกทั้งยังเป็นคนไข้ที่เคยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกด้วย นอกจากนี้ชุดสืบสวนได้ตรวจสอบแผนประทุษกรรมของคนร้ายจากแฟ้มประวัติอาชญากรรม พบว่าคล้ายกับบุคคลหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจน แต่หลังจากที่มีข่าวเผยแพร่ออกไป ทำให้คนร้ายหลบหนีออกนอกพื้นที่ กทม.แล้ว แต่ชุดสืบสวนจะเร่งติดตามตัวมาดำเนินคดี

ขณะที่ นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ได้ประกาศแจ้งเตือนไปยังโรงพยาบาลทั้ง 38 แห่งใน จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐบาล 33 แห่ง และโรงพยาบาลของเอกชนอีก 5 แห่ง ให้เฝ้าระวังคนร้ายกลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะมาก่อเหตุในพื้นที่ได้ ถึงแม้ว่าทุกโรงพยาบาลจะติดกล้องวงจรปิดทุกจุดแล้วก็ตาม แต่คนร้ายมักจะสวมหน้ากากอนามัยปกปิดใบหน้า ปะปนอยู่กับญาติผู้ป่วย ทำให้สังเกตได้ยาก ดังนั้นจึงขอให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฝ้าจับตาดูพฤติกรรมของคนสวมหน้ากากอนามัยอย่างใกล้ชิด หากเป็นไปได้ขอให้ผู้ที่สวมหน้ากากได้เปิดหน้าให้กล้องวงจรปิดบริเวณปากทางเข้าโรงพยาบาลสามารถบันทึกภาพได้บ้าง เพื่อป้องกันหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จะสามารถตรวจสอบได้ง่าย

ด้านนายชาญชัย กีฬาแปง ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากมีข่าวคนร้ายมอมยาประชาชนที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้น ทางขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้นิ่งนอนใจได้เพิ่มมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณขนส่งอาเขต และสำนักงานขนส่ง เพื่อความไม่ประมาท โดยขอให้เจ้าหน้าที่ประกาศประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาใช้บริการเป็นระยะ ขอให้ระมัดระวังคนแปลกหน้าที่เข้ามา ตีสนิท หรืออย่ารับของฝากของกิน และอย่าหลงเชื่อใจบุคคลที่ไม่รู้จัก เพราะอาจเกิดอันตรายต่อตนเองได้

ผู้สื่อข่าว จ.นครศรีธรรมราช รายงานว่า ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีขนาด 1,000 เตียง บรรยากาศโดยทั่วไปในแต่ละวัน จะมีผู้มาใช้บริการวันละไม่ต่ำกว่า 3,000 คน จึงถือเป็นที่เสี่ยงและเป็นเป้าสำหรับกลุ่มมิจฉาชีพ จากการตรวจสอบไม่พบมีการมอมยาแล้วรูดทรัพย์ มีเพียงลักขโมย กระเป๋า กรีดกระเป๋า ขโมยจักรยานยนต์และรถยนต์ เป็นต้น แต่ปัจจุบันนี้ไม่พบเหตุดังกล่าวแล้ว เพราะทางโรงพยาบาลได้มีการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งให้ยามตรวจตราการเข้าออกเป็นเวลามากขึ้น มีตำรวจตรวจอย่างเข้มงวด ตลอดจนมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วโรงพยาบาลกว่า 100 ตัว จึงทำให้เหตุดังกล่าวลดลงมาก

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 16 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--