ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - แพทย์หญิงวราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามควบคุมคุณภาพในการตรวจวินิจฉัยเลือดของผู้ป่วยโรคมาลาเรีย เพื่อยืนยันเชื้อว่า เป็นชนิดใดนั้นที่ผ่านมา ในปี พ.ศ.2555 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 เชียงใหม่ ได้ทำการติดตามการตรวจวินิจฉัยเลือดผู้ป่วย พบว่า ระยะเวลาตั้งแต่เจาะเลือด จนถึงการรายงานผลการตอบกลับ ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 21 วัน ระยะเวลาที่สั้นที่สุด 16 วัน และนานที่สุดคือ 66 วัน ซึ่งระยะเวลานาน ไม่สามารถช่วยผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว ทันเวลาได้ จากการสำรวจของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 เชียงใหม่ พบว่าในปี 2555 มีความคลาดเคลื่อนในการตรวจวินิจฉัย 49 ฟิล์ม จาก 11,780 ฟิล์ม คิดเป็นร้อยละ 0.42 ซึ่งไม่เกิน มาตรฐานสากล แต่ด้วยความพยายามที่จะให้บริการที่ดีที่สุดกับคนไทยที่อยู่ห่างไกล จึงได้คิดค้นนวัตกรรมตรวจวินิจฉัย ที่รวดเร็ว เรียกว่า กล้องจุลทรรศน์เครือข่าย เวปแคม ไมโครสโคป (Webcam Microscope) เป็นนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคมาลาเรีย เพิ่มความสะดวกการให้บริการ ยืนยันผลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อมาลาเรียจากส่วนกลาง ทันทีผ่านระบบออนไลน์ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ในถิ่นทุรกันดาร จะสามารถส่งภาพเชื้อ มาลาเรียจากกล้องจุลทรรศน์ที่เชื่อมต่อกับเวปแคมให้ผู้เชี่ยวชาญดูได้พร้อมกันในเวลาเดียวกัน ขณะเดียวกัน หากเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถาม ผู้เชี่ยวชาญได้เลย เป็นการสื่อสาร 2 ทางเพิ่ม ประสิทธิภาพและความมั่นใจให้เจ้าหน้าที่ภาคสนาม เมื่อวินิจฉัยเชื้อโรคได้ถูกต้อง รวดเร็ว จะสามารถใช้ยาที่มีประสิทธิภาพตรงกับเชื้อที่เป็นสาเหตุ รักษาให้หายขาด

นายแพทย์วิทยา หลิวเสรี ผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 เชียงใหม่ กล่าวว่า ในการคิดค้นกล้องจุลทรรศน์เครือข่ายเวปแคม ไมโครสโคป (Webcam Microscope) ซึ่งเป็นนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคมาลาเรีย ที่เป็นประโยชน์สูง กล่าวคือ 1.ป้องกันการเกิดภาวะมาลาเรียรุนแรง และลดการเสียชีวิต 2.ป้องกันเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยารักษามาลาเรีย ที่กำลังแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3.ลดจำนวนเวลาในการยืนยันผลเลือดจาก 21 วัน เป็นศูนย์วัน คือ สามารถวินิจฉัย และยืนยันผลโดย ผู้เชี่ยวชาญในเวลาเดียวกัน 4.ลดค่าใช้จ่ายจากเดิมต้องเสียค่าวินิจฉัยตรวจยืนยัน รายละ 7,000 บาท เหลือ 1,500 บาท ลดลงร้อยละ 78 และ 5.ผู้ป่วยในชุมชน ห่างไกลทุรกันดาร ได้รับบริการที่ถูกต้อง รวดเร็ว เสมอภาคกับผู้ป่วยในท้องที่ ที่มีความเจริญ และมีความมั่นใจในการ ดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 15 ตุลาคม 2556