ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
โพสต์ทูเดย์ - แนวคิดการโอนสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บริหารจัดการ ตามที่ คณิศแสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง สปสช. เปิดเผยไว้เมื่อวันที่7 ต.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า การโอนสิทธิรักษาพยาบาลผู้ประกันตน 10 ล้านคน มายัง สปสช. เป็นการดำเนินการตามที่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 10 ให้อำนาจไว้ มีหลักการคือโอนมาเฉพาะ "สิทธิรักษาพยาบาล" ไม่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการด้านสังคมอื่นๆอีก 6 ด้าน
 
"ตอนนี้สิทธิบัตรทองและประกันสังคมใกล้เคียงกันมากแล้ว โดยผู้ประกันตนที่โอนมายังคงได้รับสิทธิไม่ต่ำกว่าที่ประกันสังคมให้ไว้ แต่สิทธิไหนที่บัตรทองได้มากกว่าก็จะได้รับไปด้วย" ประธานคณะอนุกรรมการฯรายนี้ให้หลักการ
 
สำหรับเงินที่โยกมาไว้ที่ สปสช.นั้น ก็เฉพาะเงินที่ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล จ่ายให้กองทุนรักษาพยาบาลในทุกๆ เดือน คืออย่างมากที่สุดไม่เกิน0.88% ของเงินสมทบ 3 ฝ่าย (0.88% จาก 12.5%)อย่างไรก็ดีมีความเป็นไปได้ที่จะน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับการเจรจารายละเอียด
 
"อาจจะเอามาเฉพาะส่วนของนายจ้างและรัฐบาลก็ได้ ขาดเหลือเท่าไรก็ค่อยหามาเพิ่ม รัฐบาลอุดหนุนนิดหน่อยคงไม่มีปัญหา ส่วนของลูกจ้างที่ต้องจ่ายทุกเดือนก็ให้โยกไปไว้ในกองทุนบำนาญชราภาพแทน"คณิศ ระบุ
 
รูปแบบการดำเนินงานจะเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับกองทุนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น (กองทุน อปท.) ซึ่งเป็นกองทุนแยกออกจากบัตรทองแต่มี สปสช.เป็นผู้บริหารบริหารจัดการอาจจะมีคณะกรรมการบริหารกองทุนมาจาก 3 ฝ่ายคือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล
 
ยืนยันว่าผู้ประกันตนไม่ถูกลดสิทธิ และ สปสช.ไม่ได้ไปขโมยกองทุนของสำนักงานประกันสังคมมาอย่างไรก็ดี ขณะนี้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. เป็นตัวกลางในการประสานกับ สปส.อยู่ เชื่อว่าภายใน 3 เดือนจะมีความชัดเจน และภายในปี2557 จะเริ่มดำเนินการได้ทันที
 
"นี่เป็นนโยบายของรัฐ ทางฝ่ายกระทรวงก็เห็นด้วยว่าต้องทำแนวทางนี้" คณิศ ระบุชัด
 
แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอถมช่องว่างลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพที่ นพ.พงศธรพอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเคยให้ไว้โดยย้อนกลับไปต้นปี 2554 นพ.พงศธร เปิดเผยผลการศึกษาที่ชี้ชัดว่า สิทธิประโยชน์ด้านรักษาพยาบาลของ"ประกันสังคม" ด้อยกว่า "บัตรทอง" หลายรายการ
 
หนำซ้ำ นิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ยังได้ทวงถามมาโดยตลอดว่า เป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตัวเอง ขณะที่บัตรทองและสวัสดิการข้าราชการมีรัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนดูแล
 
นำมาสู่ข้อเสนอว่า ให้โอนสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนมาไว้ที่ สปสช. และให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ส่วนเงินแต่ละเดือนที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบในส่วนของกองทุนรักษาพยาบาลให้โยกมาไว้ที่ "กองทุนบำนาญชราภาพ" แทน
 
อย่างไรก็ตาม ที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือท่าทีคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ว่าจะเอาด้วยหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายมาตรา10 ระบุไว้ว่า ต้องเป็นความพร้อมของ "ทั้งสองฝ่าย" คือ ทั้ง สปสช. และสปส.
 
นอกจากนี้ บทเรียนจากปี 2554 ซึ่งมีการจัดประชุมตามมาตรา 10 เป็นครั้งแรก ในรอบ 9 ปี ตั้งแต่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ชัดเจนแล้วว่าไม่มีทีท่าจะแสวงหาความร่วมมือได้เลย
 
เนื่องจากการประชุมทั้ง4 ครั้ง ต่างฝ่ายต่างยืนในหลักการของตัวเอง โดยฝ่าย สปสช. ยืนกรานว่า สปส.ต้องส่งเงินค่ารักษาพยาบาลร่วม 2.3 หมื่นล้านบาทมาให้ สปสช.เป็นผู้บริหารจัดการ ในขณะที่ สปส. ตั้งธงไว้ว่า ไม่มีทางโอนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับ สปสช.
 
จากวันนั้นถึงวันนี้ การประชุมตามมาตรา 10 ไม่มีความคืบหน้าใดๆ กระทั่ง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์รมว.สาธารณสุข (สธ.) กำหนดนโยบายหมายมั่นปั้นมือว่านี่เป็นหนึ่งในภารกิจที่ต้องดำเนินการให้สำเร็จบรรลุผล
 
สำหรับมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัญญัติไว้ว่า ขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของ "ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม" ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม "การขยายบริการสาธารณสุข" ตามพ.ร.บ.นี้ไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน
 
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556