ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ASTV ผู้จัดการรายวัน - แม้จะเป็นโรคดึกดำบรรพ์ แต่วัณโรคก็ยังเป็นมัจจุราชที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศไทย นอกจากจะติดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอันดับ 18 ของกลุ่มประเทศ22 ประเทศซึ่งยังไม่สามารถจัดการวัณโรคได้อย่างเบ็ดเสร็จ ข้อมูลทางสาธารณสุขยังพบว่าอัตราการป่วยด้วยโรคนี้ของไทยมีสูงถึง 150-200 ราย ต่อประชากรจำนวนหนึ่งแสนคน

นพ.นัฐพล ฤทธิ์ทยมัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า ถึงแม้วัณโรคจะไม่แพร่หลายในคนไทยนานหลายทศวรรษ แต่ในช่วงปี ค.ศ.2000-2005 พบว่า มีประชาชนป่วยเป็นโรคนี้มากขึ้นอย่างผิดสังเกต ทำให้วงการสาธารณสุขต้องให้ความสำคัญ จนกระทั่งหลังจากนั้น อัตราผู้ป่วยถึงได้ลดลงตามลำดับ

"วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งซึ่งเกิดในปอดเป็นหลัก แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดวัณโรคนอกปอดได้เช่นกัน" นพ.นัฐพล ให้ความรู้ "โดยอาการที่สามารถสังเกตได้ มีอยู่ 3 กลุ่มอาการหลักๆ ได้แก่ 1.ไอมีเสมหะ ไอมีเลือดปน 2.มีไข้ต่ำๆ (ประมาณ 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป) 3.ร่างกายผอมลง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร และอาการเหล่านี้มักเป็นเรื้อรังเกินสองสัปดาห์"ในด้านของวิธีรักษานั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแห่งศิริราชพยาบาล บอกว่ามี 3 วิธี ได้แก่

1.รับประทานยา ซึ่งประกอบด้วยยาหลายชนิดร่วมกัน และใช้เวลาในการรักษาอย่างน้อย6 เดือน โดยจะต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ ห้ามขาดยา ร่วมกับมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงจากยา ซึ่งอาจจะพบได้ เช่น ตับอักเสบ หรือผื่นแพ้ยา เป็นต้น

2.เก็บเสมหะส่งตรวจซ้ำเป็นระยะๆ และรับการถ่ายภาพรังสีทรวงอกซ้ำอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดรักษา

3.ผู้ป่วยจะต้องใส่หน้ากากอนามัย หรือเอาผ้าปิดปากปิดจมูกเวลาไอ จาม กำจัดเสมหะทิ้งอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น

4.หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก โดยผู้ป่วยจะมีโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นมากที่สุดในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการรักษา ดังนั้น ควรให้ผู้ป่วยหยุดงานในช่วง2 สัปดาห์แรก

"ในส่วนของการดูแลป้องกันตัวเองเพื่อให้ห่างไกลจากวัณโรค หลักๆ ก็คือ ต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคหรืออยู่ในสถานที่แออัด และในกรณีที่มีคนใกล้ชิดป่วยเป็นวัณโรค ก็ควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน" นพ.นัฐพล กล่าว

ขอบคุณข้อมูล : รายการ "Health  Line สายตรงสุขภาพ" รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 07.00-08.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน  วันที่ 17 ตุลาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง