ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ ทูเดย์ - ชักชวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นวัยเกษียณมาเที่ยวเมืองไทย ในแบบ "ลองสเตย์" ชวนกันมาอยู่ยาวๆ อยู่นานๆ อย่างน้อยก็ช่วงหนีหนาว 2-3 เดือน คือโจทย์ใหญ่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เหินฟ้าพาสื่อมวลชนร่วมงาน JATA Tourism Forum and Travel Showcase ณ กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นงานส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดในเอเชีย จัดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 เป็นประจำทุกปี โดยสมาคม

ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวญี่ปุ่น (Japan Association of Travel Agents : JATA) เพื่อกระตุ้นความต้องการเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศของคนญี่ปุ่น มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจากประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เข้าร่วมงานมากกว่า 150 ประเทศ มีจำนวนคูหาทั้งหมดมากกว่า 1,000 บูธ

งานนี้ ททท.ให้ตัวเลขว่า มีคนมาเดินหาแพ็กเกจท่องเที่ยวรอบโลกในงานมากกว่า 1.3 แสนคน

การเข้าร่วมงาน JATA ในปีนี้ แม่ทัพใหญ่ สมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมงานตั้งแต่พิธีตีสาเก "Kagami Biraki" เปิดงานJATA Tabihaku Night อย่างเป็นทางการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น ณ วัดโซโจจิ ใกล้ๆ กับหอคอยโตเกียว และร่วมพิธีเปิดงาน JATA 2013 ตัดริบบิ้นเป็นประธานเปิดคูหาประเทศไทย ร่วมกับเจ้าถิ่น ธนาธิป อุปัติศฤงค์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว

ปีนี้ ททท. แท็กทีมภาคธุรกิจเอกชนไทย จัดเช่าพื้นที่บูธขนาด 90 ตารางเมตร ตกแต่งแนวร่วมสมัยในแนวคิด "ความเป็นไทย" นำเสนอความเป็นไทยผ่านภาพแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติขี่ช้างล่องแก่ง ภูเขา ทะเล โชว์วัฒนธรรมหุ่นละครเล็ก ทั้งเบญจกาย หนุมาน หยอกล้อน่ารักๆ กับหนุ่มๆ สาวๆ ชาวปลาดิบ เชิญชวนมาท่องเที่ยวเมืองไทย

บูธขนาดกะทัดรัด เป็นพื้นที่ให้ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวของ ททท. ทั้งภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ จัดเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงและสาธิตศิลปวัฒนธรรมไทย การนวดแผนไทย การแสดงหุ่นละครคน และการเล่นเกมตอบคำถามเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งก็ได้รับความสนใจไม่แพ้บูธของเพื่อนบ้านเวียดนาม พม่า ศรีลังกา ออสเตรเลียที่ตั้งโชว์วัฒนธรรมการท่องเที่ยวอยู่ใกล้ๆ กัน คนญี่ปุ่นยังให้ความสนใจกับ "ไทยเนสส์!" ไม่แพ้ชาติใดในโลก!!!

ททท. ชวนไป 'ไทยแลนด์ลองสเตย์'

กลายเป็นอานิสงส์ของการท่องเที่ยวไทย ตั้งแต่ความขัดแย้งเรื่องเกาะเซนกากุกับจีนและเกาะด๊อกโดกับเกาหลีใต้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปใน 2 ประเทศคู่แข่งขันของไทย โดยชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าไปยังเกาหลีใต้ใน 2 เดือนแรก ลดลง 21 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่เดินทางเข้าจีนลดลง 32 เปอร์เซ็นต์ ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

รมว.สมศักย์ ให้ตัวเลขว่าปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาเที่ยวไทย 1.35 ล้านคน คูณด้วยค่าใช้จ่ายวันละ 4,500 บาท ซึ่งนักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวกันอย่างน้อย 7 วัน และจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้น่าจะมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะตัวเลขในช่วงเดือน ก.ย. นักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเกิน 1 ล้านคนแล้ว

"รัฐบาลมีนโยบายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหากลยุทธ์ใหม่ๆ ในการนำเงินจากนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น การยืดเวลาให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น เพื่อจะใช้จ่ายในประเทศไทยมากขึ้น ในแบบของการท่องเที่ยวแบบลองสเตย์ของคนญี่ปุ่นในประเทศไทย เป็นจุดขายในงานJATA ปีนี้ ททท. สำนักงานโตเกียว ได้ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์เดินทางมายังประเทศไทยในเมืองท่องเที่ยวหลัก 4 แห่ง คือ กรุงเทพฯเชียงใหม่ ภูเก็ต และหัวหิน

ถ้าไปเชียงใหม่ก็ชอบไปช็อปปิ้งไนท์บาซาร์ ไปตลาดนัดจตุจักร ขี่ช้างล่องแก่ง ทำสปาไทย หรือถ้าไปทะเลหัวหิน ก็ไปตีกอล์ฟด้วย

มีงานวิจัยระบุว่า คนญี่ปุ่นอายุ 55 ปีขึ้นไป เริ่มปลดเกษียณจากการทำงานแล้ว รวมทั้งคู่สมรสส่วนใหญ่เลือกมาเที่ยวเมืองไทย

นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นก็ชอบเชียงใหม่มากครับตอนนี้มีตัวเลขว่ามีนักท่องเที่ยวกว่า 3,000 คน

ที่มาใช้ชีวิตในเชียงใหม่ โดยแบบการอยู่อาศัย ไม่ใช่การท่องเที่ยวอย่างนักท่องเที่ยวทั่วไป ไม่ใช่เป็นการทำงานหรือการหารายได้เพื่อยังชีพระยะเวลาของผู้พำนักชั่วคราวและผู้พำนักถาวร ตั้งแต่ 1 เดือน หรือ 30 วันขึ้นไป เรียกว่าอยู่ยาวนานเป็นเดือนๆ เราก็อยากเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพราะคนญี่ปุ่นถือเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ"รมว.สมศักย์ บอกข้อมูล

การมาออกบูธร่วมงาน JATA ในปีนี้ ในฐานะเจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ บอกว่า ได้ข้อมูลจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ว่ามีหมู่บ้านจัดสรรของเอกชนหลายแห่ง เตรียมตัวเปิดแขนต้อนรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นในวัยเกษียณ ซึ่งมีรายได้คนละ5 หมื่นบาทต่อเดือนถือว่าสำหรับค่าครองชีพในเชียงใหม่อยู่ได้สบายมาก

"นักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์ในญี่ปุ่นถือว่าเป็นสเกลใหญ่มากๆ ภาครัฐบาลแอ็กทีฟทำฝ่ายเดียวก็ไม่พอ ต้องแท็กทีมร่วมกับเอกชน แล้วเวลามางานออกบูธท่องเที่ยวแบบนี้ ผมคิดว่าต่างคนต่างมาคงไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว ลูกค้านักท่องเที่ยวทางญี่ปุ่นก็สับสนอีกต่างหาก เพราะต่างคนก็ต่างพูดการมาเป็นทีมโดยมี ททท. เป็นแกนนำ ผมคิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด และเมื่อกลับไปบูรณาการในลักษณะยูนิตี้ ไม่กระจัดกระจายทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค ที่พักอาศัย-การอยู่การกิน ระบบสาธารณสุข ในเรื่องโรงพยาบาลที่เป็นปัจจัย 4 ในการใช้ชีวิต

ชาวญี่ปุ่นที่มาใช้ชีวิตอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุด ข้อแรก คือ ความเชื่อมั่นซึ่งการสร้างความเชื่อมั่นอันดับแรกต้องมีพี่เลี้ยงคุณภาพดีๆ หรือผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีศักยภาพทางด้านภาษา เพราะผมถือว่าคนอาชีพนี้ต้องเป็นเหมือนศิราณีเลยก็ว่าได้นะ เพราะคนแก่ก็ต้องการคนดูแลที่เข้าอกเข้าใจ แต่ผมคิดว่าการแสดงออกของคนชาตินี้อยู่บนนิสัยที่มีวินัยสูง ผมคิดว่าดูแลไม่ยากนะครับ อาจจะดูแลง่ายกว่าคนแก่จีนที่ก็คือเป้าหมายลองสเตย์ของ ททท. ด้วยเช่นเดียวกัน"รมว.สมศักย์ กล่าว

สำหรับเงินบำนาญเดือนละ 5 หมื่นบาทกับการดำรงชีวิตในโตเกียว จัดว่าไม่สบายนัก โดยส่วนใหญ่คนแก่วัยนี้ดำรงชีวิตอยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ แบบสองคนตายาย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ธนาธิป ในฐานะข้าราชการเจ้าถิ่น ให้ข้อมูลเสริม ถือเป็นการแอ็กทีฟช่วย ททท.ในการเรียกลูกค้าชาวปลาดิบครั้งนี้

"ค่าครองชีพในญี่ปุ่นสูงมากนะครับ ผมยกตัวอย่างข้าวหน้าเนื้อจานหนึ่ง หรือข้าวกล่องเบนโตะก็เกือบ 1,000 เยนแล้ว ถ้าเทียบเป็นเงินไทยก็ 300 กว่าบาท เพราะฉะนั้นเงิน 5 หมื่นบาทถ้าเขาเลือกมาใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยได้สบายเลยนะครับ แล้วในช่วงหน้าหนาว กลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็มาชอบมาเที่ยวเมืองไทยมากๆ แล้วถ้าทางรัฐสนับสนุนทั้งเขาและเราก็ได้ประโยชน์คนญี่ปุ่นจัดเป็นชนชาติอายุเฉลี่ยยืนยาวที่สุดในโลก อายุ 55-60 ปี แข็งแรงกันมากนะครับ ผมคิดว่าการที่มาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองนานๆ ถ้าเขามีงานเล็กๆ น้อยๆ ทำ เช่น เป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่นให้คนไทย ก็ยิ่งทำให้เขาอยู่ได้ยาวขึ้น" ท่านทูตธนาธิป กล่าว

รมว.สมศักย์ เสริมอีกเรื่องว่าการดูแลคนแก่เรื่องโรงพยาบาลสำคัญที่สุด"ผมคิดว่าถ้าเราจะต้องมีการร่วมธุรกิจกับประกันสุขภาพของเขา ก็จะเป็นเรื่องพัฒนาต่อไปได้อีกไกลแล้วนิสัยคนญี่ปุ่นไม่ว่าไปพำนักอาศัยในประเทศไหน เขาชอบอยู่เป็นกลุ่มๆ การสร้างหมู่บ้านดีๆ ก็เป็นอีกโจทย์ที่ภาคเอกชนน่าจะเห็นโอกาสนี้

คู่แข่งในอาเซียนของเรา คือ มาเลเซีย ก็เรียกนักท่องเที่ยวมาลองสเตย์เช่นกัน แล้วกำหนดวัยรีไทร์ตั้งแต่ 35 ปีเลยครับ และสามารถขอวีซ่ามีอายุนานถึง 5 ปี เรียกว่าแอ็กทีฟไม่แพ้เราเลย และเป็นคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวที่น่ากลัวมาก"

"ชอบใช้ชีวิตเกษียณที่กรุงเทพฯ ชอบทุกๆอย่างที่มีในเมืองไทย เมืองไทยอากาศก็ดี อาหารอร่อยๆ ก็หากินง่ายๆ ชอบยำวุ้นเส้นที่สุด" มิโยโกะ ทานากะคุณยายบุคลิกกระฉับกระเฉง วัย68 ปี ผู้ทำหน้าที่ล่ามให้กับ ททท. บนเวทีในการแปลภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยอย่างคล่องแคล่วบอกว่า เมื่อลูกสาวได้แต่งงานกับหนุ่มชาวไทยก็ติดตามลูกมาใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และไปๆ มาๆ ระหว่างเมืองไทยและญี่ปุ่น แล้วก็ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ 2 ไปโดยปริยาย

ถ้าถามว่าชอบใช้ชีวิตในวัยเกษียณที่ไหน? คำตอบคือ เมืองไทย เพราะเป็นการพักผ่อนอย่างแท้จริง "สิ่งที่ขาดในประเทศไทย คือ ระบบประกันสุขภาพที่ดีๆ คนสูงอายุอยู่ที่ไหนก็อยากได้ความมั่นใจในเรื่องนี้นะคะ"คุณยายทานากะ บอกพร้อมรอยยิ้มเป็นมิตรสไตล์คนญี่ปุ่น

"คนสูงอายุในญี่ปุ่น ถ้าเป็นข้าราชการจะได้รับเงินบำนาญจากรัฐบาลราว 2-3 แสนเยน เป็นกลุ่มคนเกษียณที่รวยที่สุด รองลงมาคือ พนักงานบริษัทมากที่สุด 8-9 หมื่นเยนส่วนกลุ่มคนที่ไม่มีงานทำพอแก่ตัวไปก็จะได้รับเงินในแต่ละเดือนจากอำเภอดิฉันได้เงินเกษียณถ้าคิดเป็นเงินไทย ราวๆ 4 หมื่นกว่าบาท ในญี่ปุ่นถือว่าไม่มากเลย แล้วการมาอยู่กับลูกสาวที่เมืองไทย เราก็ยังหารายได้พิเศษจากการสอนภาษาญี่ปุ่นให้คนไทยอีกด้วยค่ะ" คุณยายทานากะ บอกพร้อมรอยยิ้มทิ้งท้าย

ฉลองเลิกวีซ่า 'ไปเที่ยวโตเกียวกันเถอะ'

หันมามองฝั่งนักท่องเที่ยวคนไทยกันบ้าง การไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องยากเกินฝันอีกต่อไปตั้งแต่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย แจ้งข่าวดีว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศให้กับคนไทยเพื่อพำนักในระยะสั้น และสามารถพำนักในประเทศญี่ปุ่นได้ 15 วัน ผลจากประกาศดังกล่าวจะส่งนักท่องเที่ยวชาวไทยทะลักสู่แดนซากุระแน่นอน

ในปีที่ผ่านมา คนไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นราว 3 แสนคน ขณะที่มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางมาเที่ยวไทยสูงถึง 1.3 ล้านคน การยกเว้นวีซ่าที่เกิดขึ้นของทั้งสองประเทศ ทางสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น ก็คาดการณ์ว่า น่าจะหนุนให้คนไทยตัดสินใจเดินทางเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น20-30% หรือคาดว่าจะทำให้ในปีนี้มีคนไทยเดินทางไปเที่ยวแดนปลาดิบราว 4-4.5 แสนคน จากในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 2556) มีคนไทยไปเที่ยวแล้วกว่า 1.5 แสนคน

แม้จะมีการยกเว้นวีซ่าเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยทุกคนจะเข้าญี่ปุ่นได้โดยไม่มีเงื่อนไข เพราะเขาจะให้สิทธิเฉพาะคนไทยที่มีแผนจะพำนักในญี่ปุ่นไม่เกิน 15 วัน ไม่ว่าจะมาท่องเที่ยวเยี่ยมญาติ หรือธุรกิจ และต้องไม่มีประวัติการถูกส่งตัวกลับจากประเทศญี่ปุ่น หรือถูกปฏิเสธไม่ได้เข้าประเทศ แต่หากเกิน 15 วัน ก็ยังคงต้องยื่นขอวีซ่า

ธนาธิป ทูตญี่ปุ่นยุคปลอดวีซ่า ขอฝากข้อมูลถึงคนไทยที่อยากมาใช้ชีวิตให้อ่านโดยทั่วกันว่า ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทางรัฐบาลเขาก็ต้องสแกนกันเข้มขึ้น แต่สำหรับคนที่มีแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

"คนชอบคิดว่ามีปัญหาอะไรในต่างประเทศแล้วก็มาหาสถานทูตให้ช่วยเหลือได้ ช่วยไม่ได้ทุกเรื่องหรอกนะครับเรื่องยาเสพติดช่วยใครไม่ได้แน่นอน เมื่อวานก็มีผู้หญิงไทยถูกจับในเรื่องนี้หรือเรื่องมาขอให้ท่านทูตหางานให้ทำ(หัวเราะ) มีแรงงานไทย 2 คน เข้ามาหาผมที่สถานทูต บอกเคยมาทำงานที่ญี่ปุ่นเมื่อ3-4 ปีที่แล้ว พอไม่มีวีซ่าก็ลองมา ไม่ได้มาท่องเที่ยวนะครับ แต่มาหางานทำ แล้วผมจะหางานอะไรที่ไหนให้คุณทำล่ะครับ?(ว่าแล้วก็หัวเราะ)

ผมอยากฝากว่าถ้าใครมาในกรณีแบบนี้ คุณต้องสั่งญาติในเมืองไทยเลย ต้องหาเงินสำรองไว้อีก 2 หมื่นกว่าบาทสำหรับตั๋วเครื่องบินกลับไทยระบบของรัฐบาลจัดการที่นี่เข้มงวดมากๆ เลยนะครับ เขารู้เลยว่าคนไทยเมื่อมาญี่ปุ่นไปไหนไม่ได้หรอก ก็ต้องไปหางานทำตามร้านอาหารไทย เขาก็มุ่งไปตรวจจับคนเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย 3 เวลาหลังอาหารเลยครับ หนียาก แล้วพอเกินอายุวีซ่า15 วัน ไม่มีกล้ารับคุณเข้าทำงานหรอกนะครับเพราะค่าปรับเมื่อถูกจับได้เจ้าของร้านอาหารจะถูกปรับ 1 ล้านบาทเลยนะครับ

ทุกอย่างสตริกท์มาก อย่ามาเลยถ้าคุณไม่ได้มาท่องเที่ยว หรือมาทำงานที่ถูกกฎหมาย ซึ่งในเวลานี้มีถึง 5 หมื่นคนแต่หลบๆ ซ่อนๆ ตอนนี้200 กว่าคน ผมก็เป็นห่วงนะ เพราะเดินมาหาสถานทูตกันแทบทุกวัน ญี่ปุ่นเขายกเลิกวีซ่าให้คนไทยเราแล้ว ก็ต้องช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของพวกเราไว้ด้วยนะครับ" ท่านทูตธนาธิป ฝากแถมท้ายให้ทราบโดยทั่วกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 17 ตุลาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง