ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.โต้กลับ อภ. เหตุใส่ความดื้อแพ่งจะซื้อยาโรคหัวใจจากเอกชนอีก 3 ล้านเม็ด ราคาแพงกว่ายาซีแอล 20 ล้านบาท ระบุแค่เสนอให้ อภ.ซื้อ เพราะยาซีแอลยังไม่ผ่านการตรวจคุณภาพ ป้องกันปัญหาขาดแคลนยา ชี้แม้ อภ.แจ้งว่าผ่านการตรวจคุณภาพของแล็บแล้ว แต่ผลตรวจยังมาไม่ถึงมือ

ตามที่มีข่าวเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่  17 ตค. ที่ผ่านมาจากองค์การเภสัชกรรมว่า สปสช. ยืนยันจะซื้อยาหัวใจเพิ่มอีก 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาแพงกว่ายา CL จากอินเดียประมาณ20 ล้านบาท  

ต่อเรื่องดังกล่าว นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.แถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า จากข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามที่แหล่งข่าวระดับสูงของ อภ. เปิดเผยเพราะที่ผ่านมายา Clopidogrel ซึ่งเป็นยาสำคัญในการรักษาโรคหัวใจที่เป็นยา CL อภ.สั่งซื้อจากประเทศอินเดียจำนวน 18 ล้านเม็ด แต่ถูกระงับการแจกจ่ายให้กับ รพ. ต่างๆ เพราะมีปัญหาด้านการตรวจสอบคุณภาพ ทำให้ตั้งแต่เดือน กรกฏาคม 2556 เกิดการขาดแคลนยาดังกล่าวและ สปสช.กับอภ. ได้ตกลงแก้ไขปัญหาแล้วกับอภ.สรุปให้มีการสั่งซื้อยาจากบริษัทเอกชนที่มีราคาแพงกว่าให้พอใช้ได้ 3 เดือนเพื่อรอยา  CL หลังจากซื้องวดแรก 3 ล้านเม็ดซึ่งพอใช้ได้ถึงกลางเดือน กย. สปสช.จึงได้มีหนังสือลงวันที่  5 กย.2556แจ้งว่า ระหว่างที่ยา CL ยังไม่มาขอให้อภ.ซึ้อยาดังกล่าวจากเอกชนเพิ่มอีก  3 ล้านเม็ดเพื่อให้บริการผู้ป่วยได้ใช้ถึง ตค. 2556 แต่ อภ.ยังไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อยาให้ และต่อมาเมื่อวันที่ 11 ตค.2556 สปสช.เพิ่งได้รับหนังสือจาก อภ.ว่ายา CL ที่ราคาถูกกว่าเอกชนจำนวน 18 ล้านเม็ดได้ผ่านการตรวจคุณภาพจากห้อง LAB เรียบร้อยแล้วและสามารถส่งมอบให้ รพ.ต่างๆ ได้ภายใน 30 ตค. 2556 จึงขอให้ สปสช. พิจารณาว่าจะเปลี่ยนการสั่งซื้อยาดังกล่าว 3 ล้านเม็ดมาเป็นยา CLหรือไม่ ซึ่งสปสช.ยังไม่ทันได้ตัดสินใจว่าจะระงับใบสั่งซื้อเดิมเปลี่ยนเป็นซื้อยา CL ใหม่ เพราะต้องรอผลการตรวจคุณภาพยาให้ รพ.ต่างๆ เกิดความเชื่อถือก่อน ดังนั้นข่าวที่ว่า สปสช. ยืนยันจะซื้อยาแพง จึงไม่เป็นความจริง

“ข่าวดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดให้กับผู้ป่วย รพ.และสังคมว่า สปสช. ต้องการซื้อราคาแพงทำให้เสียเงินเพิ่มอีกประมาณ 20 ล้านบาท ผิดข้อเท็จจริงเกิดความเสียหายกับความน่าเชื่อถือต่อการบริหารกองทุนของ สปสช. และเกิดความเสียหายต่อความร่วมมือจัดหายาที่มีคุณภาพดีราคาเหมาะสมระหว่าง สปสช.กับ อภ.ที่ช่วยกันตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่าง สปสช.กับ อภ.ที่ผ่านมาทำให้ราคายาราคาต่ำลงอย่างมากผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้ดีขึ้น รัฐบาลประหยัดค่าใช้จ่ายดังนั้นความน่าเชื่อถือที่เสียไปและความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานของรัฐถูกทำลายไปเป็นการสร้างความเสียหายให้กับส่วนรวมและผู้ป่วย”นพ.ประทีป กล่าว