ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"รัฐบาล" เตรียมออกประกาศ เก็บค่าธรรมเนียมชาวต่างชาติเข้าประเทศ เผย อัตราจัดเก็บเข้าประเทศเคาะเกิน 3 วัน 500 บาท แต่หากไม่เกิน 3 วัน เก็บวันละ 30 บาท คาดรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน ส่วนหนึ่งนำไปชดเชยค่ารักษานักท่องเที่ยวกรณีเหตุฉุกเฉิน ด้าน ผอ.รพ.วชิระ ภูเก็ต เผย ต้องแบกรับภาระปีละ 3-4 ล้านบาท

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง กรณีการปรับเก็บค่าธรรมเนียมการเข้า ประเทศว่า ได้มีการหารือแล้วว่าจะเก็บ ธรรมเนียมเข้าประเทศ โดยคำนวณจาก อัตราการเข้าเมือง ปกตินักท่องเที่ยวจะ เฉลี่ยเข้าประเทศอยู่ที่ครั้งละ 30 วัน เบื้องต้น คิดว่า ตัวเลขค่าธรรมเนียมที่จะเก็บอยู่ที่ 500 บาทต่อครั้ง สำหรับผู้ที่เข้าเมืองเกิน 3 วัน และเก็บวันละ 30 บาท สำหรับผู้ที่เข้าเมืองไม่เกิน 3 วัน

ค่าธรรมเนียมที่เก็บได้นี้ จะนำเข้า กระทรวงการคลัง และตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมาจัดสรรให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในอัตราที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาองค์กรต่อไป โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะนำไปเป็นค่ารักษาพยาบาล ให้กับนักท่องเที่ยวเหล่านี้ เฉพาะในกรณี ฉุกเฉินที่อันตรายถึงแก่ชีวิตในอัตรา ไม่เกิน 2-3 แสนบาทเท่านั้น อีกส่วน หนึ่งจะนำไปพัฒนาหน่วยบริการ หรือ จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย เพราะ ถือว่าคนเหล่านี้เข้ามาใช้ทรัพยากรของ ประเทศไทย

ล่าสุดอยู่ในระหว่างการหารือร่วมกัน ระหว่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่ง ชาติ (สมช.) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

เพื่อหาข้อสรุปว่า จะใช้กฎหมายของ หน่วยงานใดมาบังคับจัดเก็บค่าธรรมเนียมนี้ เพื่อให้ครอบคลุมการทำงานในทุกด้าน แต่คงไม่สามารถใช้อำนาจของกระทรวงสาธารณสุขได้ เพราะจะกลายเป็นเรื่องของสุขภาพอย่างเดียว และทำให้เกิดภาระผูกพันด้านการเงิน ที่ต้องใช้ดูแลด้านสุขภาพของคนทันที หากได้ข้อสรุปแล้ว จะเร่งนำเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็น ประกาศสำนักนายกฯ ที่ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถาวร

ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยว 23 ล้านคน ในจำนวนนี้หากเป็นคนที่เข้ามาใน ประเทศเกิน 3 วันที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 500 บาท 20 ล้านคน เท่ากับว่าจะมีเงินจากส่วนนี้ถึง 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดูแลด้านสุขภาพ และด้านอื่นๆ จากเดิมที่ไทยต้องเสียเงินค่าดูแลสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างเดียวปีละหลายร้อยล้านบาท เฉพาะที่ สธ.มีการบันทึกไว้ ต้องจ่ายไป 200-300 ล้านบาท และยังมีส่วนที่ไม่ได้บันทึกอีกจำนวนมาก เพราะโรงพยาบาลเฉลี่ยไปรวมกับค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ และยังมีตัวเลขค่าใช้จ่ายที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จ่ายไปอีกกว่า 400 ล้านบาท

ในการประชุมปรึกษาหารือระดับ นโยบาย เรื่อง "นโยบายการพัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าว" เมื่อเดือนมิ.ย. ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานข้อมูลการเข้าบริการรักษาพยาบาลของนักท่องเที่ยวว่า จากสถิติของสมาคม โรงพยาบาลเอกชน พบว่ามีชาวต่างชาติ ค้างชำระค่าบริการ 100 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมการเข้ารับบริการในคลินิกเอกชน ถ้าประมาณการขนาดของปัญหาจากรายงานศึกษาในต่างประเทศ พบว่ามีนักท่องเที่ยวจากประเทศพัฒนาแล้ว 20-70% จะเกิดปัญหาการเดินทางทั้งเล็กน้อยและรุนแรง โดย 1-5% ต้องได้รับการรักษา และ 0.01-0.1% ต้องได้รับการส่งต่อ อัตราการเสียชีวิต 1 ต่อประชากรแสนราย

หากใช้รายงานนี้เพื่อประมาณสถานการณ์การเจ็บป่วยของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยราว 20 ล้านคนต่อปี จะมีคนที่ต้องเข้ารับการรักษา 26,054 ครั้ง หรือเฉลี่ย 0.05 ครั้งต่อคนต่อปี

ด้าน นพ.เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวยอมรับว่า ปัญหาชาวต่างชาติเข้ารับบริการรักษาพยาบาลและไม่มีเงินจ่ายมีมาตลอด มีทั้งกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยว กลุ่มที่เข้ามา อยู่ลองสเตย์ และกลุ่มที่เข้ามาแต่งงานกับหญิงไทย  โดยแต่ละปีโรงพยาบาลต้องกันเงินงบประมาณส่วนหนึ่ง เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ เฉลี่ยปีละ 3-4 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมาสูงถึงหนึ่งล้านบาท และเดือนหน้าจะสรุปตัวเลขของปีนี้

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดแต่เฉพาะที่วชิระภูเก็ต แต่เกิดกับทุกโรงพยาบาลที่อยู่ในจังหวัด ท่องเที่ยว หากรวมตัวเลขภาพรวมทั้งประเทศจะเป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายที่มาก จำเป็นต้องหาทางแก้ไข ซึ่งกรณีที่รัฐบาลมีแนวทางการจัดเก็บค่าทำเนียม เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนตัวเห็นด้วยเพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 ตุลาคม 2556