ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ตลอดปี 2556 มีสารพัดม็อบมาที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล ตลอดจนลูกจ้างชั่วคราว เกือบทั้งหมดทำการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาความมั่นคงในวิชาชีพ อย่าง 2 กลุ่มแรกเราจะทราบดีถึงภาระหน้าที่ แต่ในส่วนของลูกจ้างชั่วคราวนั้นคนทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร 

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจ้างลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุข และอีกหลายๆ กระทรวงเริ่มมานานมากจากความไม่พอเพียงของข้าราชการในวิชาชีพ ทำให้แต่ละหน่วยงานจ้างงานอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมาคือ “ลูกจ้างประจำ”  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จบต่ำกว่าระดับปริญญาตรี หรือกลุ่มที่ไม่ใช่วิชาชีพ เช่น คนสวน คนงาน คนขับรถ ฯ แต่การจ้างงานทั้ง 2 รูปแบบ ประกอบกับที่ในระยะต่อมาที่รัฐบาลได้ออกนโยบายจำกัดการเพิ่มอัตราข้าราชการ ช่วงนั้นจะต้องมีการควบคุมอัตรา เงินเดือน และค่าจ้างก็ยังไม่พอเพียง ทำให้จำนวนบุคลากรยิ่งขาดแคลนมากยิ่งขึ้น จนมีการจ้าง “พนักงานราชการ” ขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง

การจ้างงานแบบใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะให้บริการประชาชน ประจวบเหมาะกับที่มีการเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ประชาชนมาใช้บริการในระบบมากขึ้น โดยก่อนปี 2545 จำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 80 ครั้ง โดยเฉลี่ยคนหนึ่งคนมาใช้บริการอยู่ที่ครั้งเศษๆ แต่ตอนนี้ยอดผู้มาใช้บริการเพิ่มเป็น 3 เท่า ขณะที่ข้าราชการคงเดิม พนักงานราชการคงเดิมก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เนื่องจากเราไม่สามารถขยายอัตรากำลังได้ คือภาระงานเพิ่มมากขึ้น แต่เราไม่สามารถขยายอัตรากำลังได้ สุดท้ายกระทรวงการคลังจึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขจ้างลูกจ้างชั่วคราวด้วยเงินนอกงบประมาณ หรือเงินบำรุงโรงพยาบาล เป็นค่าจ้าง

กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกระเบียบการจ้างงานลูกจ้างชั่วคราวด้วยเงินบำรุงขึ้นมา 1 ฉบับ โดยนพ.วินัย วิริยะกิจจา ปลัดกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นเป็นผู้ลงนาม ระเบียบดังกล่าวได้ให้อำนาจกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่มีเงินบำรุง คือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ตอนนั้นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยังไม่เกิด อย่างไรก็ตามอำนาจในการจ้างงานลูกจ้างชั่วคราวจะถือว่าสมบูรณ์ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบอร์ดของโรงพยาบาล ดังนั้นปี 2545 จึงถือเป็นจุดกำเนิดของ “ลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง” อย่างแท้จริง

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจุบันภาระงานของหน่วยบริการสาธารณสุขก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การจ้างงานลูกจ้างชั่วคราวก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยทั้งในสายวิชาชีพ และที่ไม่ได้อยู่ในสายวิชาชีพ ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือลูกจ้างชั่วคราวในสายวิชาชีพกว่า 20 สายงาน นักเรียนทุน จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่มีอัตราข้าราชการบรรจุให้คนเหล่านั้น ซึ่งขณะนี้ยอดสะสมอยู่ที่ 30,000 คน ที่รอบรรจุเป็นข้าราชการ และเริ่มมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้มีการบรรจุเป็นข้าราชการอย่างหนักในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ แต่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาให้ได้ทั้งหมดในรอบเดียวเพราะกระทบกับนโยบายคุมอัตราข้าราชการของรัฐบาล ขณะเดียวกันลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่ใช่สายวิชาชีพก็เพิ่มเป็น 140,000 คน หรือคิดเป็น 40% ของบุคลากรในระบบสุขภาพทั้งหมด ทำให้ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขต้องหาวิธีจ้างงานแบบใหม่ คือการเร่งบรรจุให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือ พกส.

“อำนาจการจ้างของผู้อำนวยการจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารให้จ้าง ซึ่งก็คือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนั่นแหละที่เป็นประธานบอร์ด คณะกรรมการบริหารก็คือลูกน้องของผู้อำนวยการ ทำให้การบริหารงานขาดความรัดกุม นี่คือประเด็นหนึ่งที่ทำให้โป่งเร็ว กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องมาวางหลักเกณฑ์ใหม่ เช่น คุมกรอบอัตรากำลัง คือให้อำนาจเขาในการจ้างงาน แต่เราขอดูความจำเป็นในการจ้างงาน การจ้างงานต้องเป็นไปตามกรอบที่กระทรวงสาธารณสุขวางเอาไว้ น้อยกว่านี้ไม่เป็นไร แต่ถ้ามากกว่านี้ก็ต้องมีกระบวนการในการขออนุมัติซึ่งเราจะให้การอนุมัตินี้ไปอยู่ที่เขตบริการสุขภาพ โดยกระทรวงจะตรวจสอบว่ามีการอนุมัติการจ้างงานที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่วางไว้หรือไม่ เพื่อควบคุมไม่ให้โป่งเกินไป”

ด้าน นพ.วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมผู้แพทย์ชนบท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา กล่าวไปในทิศทางเดียวกันกับรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า การจ้างลูกจ้างชั่วคราวนี่ทำกันมานานเป็น 10 ปี แล้วเป็นเพราะ “อัตรากำลังไม่พอ” เพราะสำนักงาน กพ.ไม่ให้จ้างลูกจ้างประจำแล้ว โดยให้เหตุผลว่าจะไม่มีตำแหน่งนี้อีกต่อไป เลยทำให้โรงพยาบาลทั้งหมดต้องจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวหมดโดยใช้เงินบำรุงในการจ้างคนเหล่านี้

“ก็ไม่ทราบว่า ทำไมกพ.ถึงได้ตั้งเงื่อนไขอย่างนั้น เพราะนายกรัฐมนตรีรับปากแล้ว มีการนำเข้าครม.เรียบร้อยแล้ว และตำแหน่งก็ล็อกไว้หมดแล้วว่าต้องบรรจุเด็กที่จบปี 51-54 ไม่ใช่ว่าหน่วยงานไม่จ้างเพิ่มหรืออย่างไร เพราะว่ามันมีชื่อ มีตำแหน่งของมันอยู่ ตั้งแต่บรรจุรอบที่แล้ว พ.ค. 56” นพ.วชิระ กล่าวและว่า เราต้องใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลส่วนหนึ่งมาจ้างคนเหล่านี้ จะไม่จ้างก็ไม่ได้เพราะงานมันล้นมือ เพราะฉะนั้นอย่ามาโวยวายที่เราจ้างลูกจ้างชั่วคราว ถ้าเราจ้างคนเยอะก็เสียโอกาสในการพัฒนา ถ้าเราจ้างแต่คนก็ไม่มีงบประมาณในการซ่อมบำรุง การต่อเติม หรือการซื้อครุภัณฑ์ทดแทนของเก่า

ลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลจะมีตั้งแต่พนักงานขับรถ แม่บ้าน ไปจนถึงผู้ช่วยพยาบาล เช่น ที่โรงพยาบาลชุมพวง มีลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดคิดเป็น 54% ใช้งบประมาณเดือนละ 1 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินเดือนค่าจ้างของกลุ่มเภสัชกร เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ นักจิตวิทยา ซึ่งหากคนกลุ่มนี้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในเดือนตุลาคมน่าจะช่วยบรรเทางบประมาณได้มากกว่านี้ ส่วนวิธีการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข อย่างที่ส่วนกลางกำลังทำนี้ไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเลย เพราะยังใช้เงินบำรุงในการจ่ายเป็นค่าจ้างเช่นเดิม งบประมาณที่เติมลงมาจำนวน 3,000 ล้านบาท ที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงออกมาบอกนั้น แท้จริงแล้วส่วนหนึ่งถูกบรรจุอยู่ในงบค่าหัวของหลักประกันสุขภาพปี 2557 และอีกส่วนหนึ่งถูกนำมาเป็นงบประมาณสำหรับการจ่ายเป็นค่าตอบแทนฉบับที่ 8,9 หรือการจ่ายเงินตามภาระงาน

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าจ้างคนเหล่านี้ไม่ได้สูงมากนัก ในขณะที่ภาระงานค่อนข้างหนักจึงทำให้มีปัญหาขาดแคลนคนทำงานอยู่บ่อยๆ กฎเกณฑ์นี้จึงถือเป็นการท้าทายความสามารถของผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่าจะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้มีคนทำงาน และเพื่อไม่ให้กระทบกับสภาพคล่องของโรงพยาบาล โดยสิ่งหนึ่งที่จะดึงคนเหล่านี้ให้ทำงานในโรงพยาบาลให้นานที่สุด นอกจากข้อดีที่ได้อยู่ใกล้บ้าน ใกล้ครอบครัวแล้ว ที่สำคัญคือวิธีการจ้างงาน สวัสดิการต่างๆ มีบ้านพักให้กับพยาบาล มีค่าทำงานล่วงเวลา เพิ่มเงินเดือนให้บ้างเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ มากบ้างน้อยบ้างตามฐานะของโรงพยาบาล แต่ช่วงหลังมีกรอบว่าไม่เกิน 6% เพราะฉะนั้น “พกส.” ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการอยู่นั้นจะต้องมีสิ่งเหล่านี้มาจูงใจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง กล่าวทิ้งท้าย

 

เรื่องที่เกี่่ยวข้อง

สำรวจสถานะลูกจ้างชั่วคราว พวกเขาเป็นใครในโรงพยาบาล ตอนที่ 2

เสียงจากลูกจ้างชั่วคราว พวกเขาเป็นใครในโรงพยาบาลตอนที่ 3 (จบ)