ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -เมื่อโลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้เกิดเครื่องมือที่จะช่วยยื้อชีวิต (หรือกล่าวอีกด้านหนึ่งคือยืดความตาย) ให้ยาวออกไปอีก การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมทำให้การตายเป็นเรื่องต้องห้าม (Taboo) ในหลายๆ วัฒนธรรม เป็นเรื่องที่พูดกันอย่างเปิดเผยไม่ได้ กลายเป็นเรื่องอัปมงคล ฯลฯ รวมไปถึงความสามารถในการจัดการดูแลการตายที่เคยทำกันได้ในบ้านหรือในชุมชนของคนทั่วไปก็ลดลง คนต้องพึ่งพาระบบการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วจนแทบจะไม่มีทางเลือกอื่น ที่ตายของคนสมัยใหม่ส่วนใหญ่จึงเป็นที่โรงพยาบาล ในขณะเดียวกันแพทย์ก็ใช้เครื่องมือเครื่องไม้ในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการรักษาอาการของผู้ป่วย จนหลงลืมไปว่างานที่ควรทำกันคือ การรักษาคนมากกว่าจะรักษาโรคหรืออาการของโรคโดยไม่คำนึงถึงตัวผู้ป่วย วิถีชีวิตของเขา และโลกที่แวดล้อมเขาอยู่

ยิ่งผู้ป่วยอาการหนักมากเท่าใด เขายิ่งต้องตกอยู่ภายใต้ความโดดเดี่ยวและต้องถูกแยกออกมาจากโลกของเขา แยกจากครอบครัวและผู้คนที่เขารักใคร่ผูกพัน มาอยู่ในพื้นที่ที่อาจจะพูดได้ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่มีความเป็นส่วนตัว ถูกรุมล้อมไปด้วยเครื่องมือและผู้คนที่ทำหน้าที่กันอย่างวุ่นวายในการบันทึกข้อมูลจากเครื่องมือกลไกทั้งหลายที่ติดตั้งอยู่รอบเตียงของเขา จนไม่มีใครจะหันมาถามหรือระมัดระวังในการสื่อสารและดูแลสภาพผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพเปราะบางทั้งร่างกายและจิตใจอย่างอ่อนโยนและเข้าใจ

อลิซาเบธ คืบเลอร์-รอสส์ ผู้เปลี่ยนแปลงความเข้าใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย  

ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ท่ามกลางสภาพที่ดูสิ้นหวังและทุกข์ทนของผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยเฉพาะภายในโรงพยาบาล ยังมีอีกหลายคนเชื่อว่าต้องมีทางออกอื่นที่ดีกว่า และลงมือทำในสิ่งที่ตนเชื่อ จิตแพทย์ท่านหนึ่งคือ อลิซาเบธ คืบเลอร์-รอสส์ (Elisabeth Kübler-Ross) ได้บุกเบิกการทำงานเพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายตายอย่างมีคุณภาพ ตายในสภาพแวดล้อมหรือตามเงื่อนไขที่ตนเองต้องการ พร้อมทั้งได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ เธอได้แรงบันดาลใจจากการพูดคุยกับหญิงสาวชาวยิวผู้หนึ่งที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันของเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้เธอสนใจที่จะเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการของมนุษย์ในยามเผชิญหน้ากับสภาวะที่ทุกข์ที่สุด ต่อมาเมื่อเธอเห็นความทุกข์ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ จึงทำการศึกษาวิจัยโดยการสัมภาษณ์ และเปิดวงเสวนาเพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ จากประสบการณ์ของผู้ป่วยและญาติมิตรจำนวนนับร้อยนับพันคน แล้วเขียนเป็นหนังสือชื่อ On Death and Dying  (ความตายกับภาวะใกล้ตาย) ใน พ.ศ. 2512 (ค.ศ.1969) ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีจนถึงปัจจุบัน ระหว่างการทำงาน เธอต้องต่อสู้กับผู้บริหารและแพทย์ในโรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ ซึ่งไม่เชื่อถือในวิธีการที่เธอนำเสนอ แต่ท้ายที่สุด งานของเธอได้รับการยอมรับจากสาธารณชน จึงส่งผลกลับมาช่วยทลายกำแพงของการห้ามพูดถึงเรื่องความตายลง และมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนในวงการสุขภาพจำนวนมากเปลี่ยนแปลงวิธีคิดวิธีการปฏิบัติต่อผู้ป่วยระยะสุดท้าย สิ่งที่เธอค้นพบจากงานวิจัยชิ้นนี้กลายเป็นตัวแบบในการทำความเข้าใจจิตใจของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มี 5 ระยะหรือที่เรียกกันว่า คืบเลอร์-รอสส์ โมเดล (Kübler-Ross Model)

ซิเซลี ซอนเดอร์ส (Cicely Saunders) ผู้ทำให้แนวคิดในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นรูปธรรม ขณะกำลังดูแลผู้ป่วย

ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ซิเซลี ซอนเดอร์ส (Cicely Saunders) แพทย์หญิงอีกท่านหนึ่งได้สร้างสิ่งที่กลายเป็นต้นแบบของสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสมัยใหม่ทั่วโลกขึ้น โดยการก่อตั้ง “สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เซนต์คริสโตเฟอร์ ฮอสพิซ (Saint Christopher’s Hospice)” ขึ้น ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2510 ซึ่งนับเป็นฮอสพิซสมัยใหม่แห่งแรกของโลก สำหรับเธอแล้ว สถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ใช่เพียงแค่อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก แต่เป็นหลักปรัชญาหนึ่งในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยในระยะสุดท้าย

แม่แบบของสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสมัยใหม่ เซนต์คริสโตเฟอร์ ฮอสพิซ (Saint Christopher’s Hospice)

เธอได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และได้มีโอกาสดูแลผู้ลี้ภัยหนุ่มชาวยิวจากโปแลนด์คนหนึ่งอย่างใกล้ชิดในช่วงสองเดือนสุดท้ายของชีวิตเขา ในปี พ.ศ. 2491 เขาทั้งยากจนและไร้ญาติขาดมิตร โดยนอกจากการได้รับรู้ถึงความทุกข์ทางกายแล้ว เธอยังเข้าถึงความทุกข์ใจที่เขามีอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความหดหู่สิ้นหวัง ความอ้างว้าง ทำให้ทั้งสองเกิดความผูกพันกัน และทำให้เธอเข้าใจถึงความต้องการของคนที่กำลังจะตายว่าเป็นเช่นไร เธอตัดสินใจเรียนแพทย์ และตั้งใจว่าชีวิตของเธอมีภารกิจที่จะต้องจัดการต่อความเจ็บปวดทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยใกล้ตาย ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย ทางอารมณ์ ทางจิตใจ หรือแม้แต่ทางจิตวิญญาณ ให้ได้รับการคลี่คลาย

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของ เซนต์คริสโตเฟอร์ ฮอสพิซ จึงเน้นให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเข้าใจ และลดความเจ็บปวดในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการให้ยาเพื่อบำบัดความปวดแบบก้าวหน้า คือให้ยาก่อนที่ความปวดจะสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย จนกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบ และสถานที่ฝึกงานสำหรับผู้คนจากทั่วโลกที่สนใจจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ดีขึ้น ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจให้กับสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในประเทศอื่น ๆ อาทิเช่น อเมริกา และแคนาดา เป็นต้น 

ผู้เขียน : นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย