ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.เห็นชอบเพิ่มความคุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้นผู้ประสบภัยจากรถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 จากเดิม 15,000 บาทเป็น 30,000 บาท และเพิ่มเงินคุ้มครองสูงสุดจาก 50,000 บาท เป็น 65,000 บาท แต่ไม่ขึ้นค่าเบี้ยประกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน และสอดคล้องกับเศรษฐกิจ ขณะที่กรมขนส่งฯเปิดแอพออนไลน์ จ่ายค่าทะเบียนรถ 24 ชม.

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ เพิ่มความคุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้นสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยแก้ไขกฎกระทรวงการคลังกำหนดความเสียหายที่จะให้ได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น การร้องขอรับและการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น พ.ศ.2552 เพิ่มจากจำนวนเงินไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน และเพิ่มเงินคุ้มครองสูงสุดจากเดิม 50,000 บาทต่อคน เป็นไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย และให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะไม่มีการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยที่เรียกเก็บจากประชาชน นอกจากนี้ การปรับเพิ่มจำนวนเงินค่าเสียหายยังเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในกรณีค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นของผู้ประสบภัยจากรถเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ระบุว่า มีภาระส่วนนี้จำนวนมาก โดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นการประกันภัยที่กฎหมายบังคับให้เจ้าของรถทุกคันต้องจัดทำประกันภัย ดังนั้น ทุกๆ 3 ปี จะมีการศึกษาทบทวนจำนวนเงินความคุ้มครอง และการเพิ่มเงินค่าเสียหายเบื้องต้นในครั้งนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และคณะ กรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เห็นชอบด้วย

ขณะเดียวกัน คปภ.ได้เชิญผู้แทนภาคธุรกิจมาหารือเพื่อประเมินผลกระทบต่างๆ จากการปรับวงเงินค่ารักษาพยาบาลมีความเห็นร่วมกันว่า ภาคธุรกิจสามารถรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มความคุ้มครองครั้งนี้ จะมีผู้ประสบภัยที่ได้รับประโยชน์ 50,600 คน โดยทั้งหมดนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 609 ล้านบาทต่อปี เป็นภาระงบประมาณภาคเอกชน 595 ล้านบาท และภาระกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย 14 ล้านบาท และจากผลการศึกษาพบด้วยว่า อัตราเบี้ยประกันภัยที่ใช้อยู่ขณะนี้ยังสามารถรองรับกับอัตราค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นได้ และคาดว่าในระยะ 3-4 ปีนี้จะไม่มีการทบทวนเพื่อเพิ่มอัตราเบี้ยประกันภัยแต่อย่างใด

ขณะที่การดำเนินงานของภาคธุรกิจในการดูแลผู้ประสบภัยจากรถ พบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีมาก มีอัตราค่าสินไหมทดแทนต่อเบี้ยประกันภัยรับไม่สูงมาก โดยมีอัตราประมาณ 55% ซึ่งสำนักงาน คปภ.อยู่ระหว่างพิจารณาทางเลือกต่างๆในการปรับปรุงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยค่าเสียหายเบื้องต้นที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะหมายถึงค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ รวมทั้งค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยเบื้องต้น

ขณะที่นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงการรับชำระค่าภาษีรถประจำปี ผ่านระบบรับชำระเงินค่าสินค้า บริการ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โมบาย เพย์เม้นท์) ว่า ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการรับชำระภาษีรถยนต์ โดยเจ้าของรถสามารถชำระภาษีรถผ่านแอพพลิเคชั่น “ชำระภาษีรถ” บนโทรศัพท์มือถือเครือข่ายเอไอเอสด้วยบริการเอ็มเพย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถชำระภาษีผ่านเคาน์เตอร์ชำระเงินที่มีสัญลักษณ์ mPay Station 3,500 แห่งทั่วประเทศ โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. นี้เป็นต้นไป สำหรับผู้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ส่วนผู้ใช้ระบบปฏิบัติการ ios จะเริ่มใช้บริการได้ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. นี้

โดยรถที่จะสามารถชำระภาษีประจำปีบนมือถือ ได้แก่ รถเก๋ง รถปิกอัพ รถตู้ ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี ไม่ใช้ก๊าซ LPG หรือ NGV ส่วนรถจักรยานยนต์ต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี มีกรมธรรม์ประกันภัย โดยผู้ชำระภาษี สามารถชำระเงินภาษีล่วงหน้าได้ก่อนวันครบกำหนดชำระภาษีไม่เกิน 3 เดือน โดยเสียค่าใช้จ่าย 60 บาทต่อครั้ง

นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ผู้ใช้งานจะต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นชำระภาษีรถจากแอปเปิ้ล เอพสโตร์ หรือเพลย์สโตร์ ของเอนดรอยด์ มาไว้ที่เครื่อง แล้วลงทะเบียนผู้ใช้งาน และเลือกวิธีการชำระเงินผ่านระบบเอ็มเพย์ ซึ่งเอไอเอสจะส่งเอสเอ็มเอส แจ้งเตือนเพื่อให้ผู้ใช้งานชำระภาษีได้ตรงเวลาในทุกครั้งด้วย

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 23 ตุลาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง