ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เสนอยุบ สปสช.-สปส. ตั้งกองทุนดูแลสุขภาพ 2 ระบบลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ  เลขาธิการ สปสช.ชี้มีช่อง ม.10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ แต่ไร้ความคืบหน้า

หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ที่มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน ออกมาส่งสัญญาณถึงแนวคิดการโอนสิทธิรักษาพยาบาลของ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาให้ สปสช. บริหารจัดการ เนื่องจากมีประสบการณ์ ขณะเดียวกัน การโอนสิทธิรักษาพยาบาลผู้ประกันตนประมาณ 10 ล้านคนนั้น ยังสามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  ที่ให้อำนาจในการโอนมาเฉพาะ "สิทธิรักษาพยาบาล" ไม่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการด้านสังคมอื่นๆ

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ข้อเท็จจริงหากจะทำให้การบริการด้านสุขภาพเป็นมาตรฐานเดียว จำเป็นต้องให้ระบบรักษาพยาบาลของแต่ละกองทุนมาอยู่รวมกัน หมายถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคม ส่วนกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ขณะนี้รัฐบาลมีการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาอยู่ อย่างไรก็ตาม ส่วนข้อเสนอที่ทางคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง มองว่าควรจะนำสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนมาอยู่ในความรับผิดชอบของ สปสช.นั้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถทำได้ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ แต่เท่าที่เคยหารือกับกลุ่มแรงงานบางกลุ่ม กังวลว่า จะมีการนำเงินของประกันสังคมไปไว้ใน สปสช.โดยไม่มีการควบคุมหรือไม่

"ทางที่ดีที่สุดทั้ง สปสช.และ สปส. ต้องรวมกันจัดตั้งเป็นกองทุนรักษาพยาบาลใหม่ขึ้น โดยเป็นกองทุนเฉพาะผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผู้ประกันตน แทนสองกองทุนเดิม ซึ่งจะลดปัญหาความเคลือบแคลงใจว่า สิทธิไหนจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะเมื่อเป็นกองทุนเดียวกันก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกัน ส่วนสิทธิประโยชน์ของกองทุนใดที่เดิมมีข้อดีก็ให้คงไว้ หากทำได้จะลดความเหลื่อมล้ำด้านการบริการ การรักษา ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีตัวอย่างจากเกาหลีใต้ เคยทำและประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้" นพ.พงศธรกล่าว

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า แม้กลไกการโอนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค จะมีกฎหมายมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ แต่ทั้ง สปส.และ สปสช.จะต้องหารือเพื่อให้ได้ข้อตกลง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนข้อเสนอให้รวมสองกองทุนฯ มองว่าเป็นแนวคิดที่นำเสนอได้ แต่ต้องหารืออย่างรอบด้าน

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 25 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--