ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"สปสช.ควรดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลของสิทธิประกันสังคม โดยโอนค่าหัวประกันสังคมให้ สปสช.บริหาร เพราะถนัดมากกว่า เมื่อถึงเวลาเกษียณ กลุ่มคนประกันสังคมก็ต้องเข้ามาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ส่วนสิทธิ ประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ก็ให้ประกันสังคมดูแลเช่นเดิม..." ความเห็นนี้ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เคยกล่าวในการประชุมชี้แจงงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเร็วๆ นี้

น่าจับตามองว่า ในอนาคตสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวหรือไม่ เพราะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เปิดช่องให้ดำเนินการได้ ตามมาตรา 10 ที่เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้ประกันตน ที่ระบุขอบเขตของผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และการขยายบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน ซึ่งหากตกลงกันได้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่ สปสช.ตามจำนวนที่ตกลงกัน

ที่ผ่านมา แม้บอร์ด สปสช. และบอร์ด สปส. จะเคยหารือกัน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ กลายเป็นเรื่องยืดเยื้อที่แต่ละกองทุนดูแลสิทธิรักษาพยาบาลกันเอง แม้จะมีข่าวเรื่องสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันก็ตาม

เรื่องนี้ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เสนอความเห็นว่า การจะทำให้การรักษาพยาบาลเป็นมาตรฐานเดียว โดยเริ่มจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนประกันสังคมนั้น ถือเป็นเรื่องดี และหากรัฐบาลเดินหน้า ต้องขอบคุณด้วยใจจริง เพราะเรื่องนี้ได้ขับเคลื่อนมาตลอด 3 ปี เนื่องจากเห็นว่า ระบบการรักษาพยาบาลยังเหลื่อมล้ำ จำเป็นต้องทำให้เป็นมาตรฐานเดียวด้วยการรวมไว้ด้วยกัน และประเด็นนี้ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือ "ดีมานด์ไซด์"(Demand side) หรือ "ความต้องการรับบริการของประชาชน" ส่วนที่สอง คือ "ซัพพลายไซด์"(Supply side) หรือ "หน่วยบริการสุขภาพที่จะตอบสนองความต้องการ"

ในส่วนของดีมานด์ คือ ประชาชนย่อมต้องการการบริการที่ดี ซึ่งปัจจุบันแม้จะมี 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ ข้อเสนอในการโอนกองทุนประกันสังคมในเรื่องสิทธิรักษาพยาบาล ไปให้ สปสช.ดูแล จึงเป็นทางออกที่ถูกทาง เพราะถือเป็นการดำเนินการให้การรักษาเป็นมาตรฐานเดียว แต่ปัญหาคือ การจะเดินตามแนวคิดดังกล่าวอาจไม่ง่ายนัก เพราะฝ่ายผู้ประกันตนอาจมองว่า เงินในสัดส่วนที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายสมทบร่วมกับภาครัฐ และนายจ้าง ในส่วนของสิทธิรักษาพยาบาลสมควรต้องมาอยู่ใน สปสช.หรือไม่ เพราะผู้มีสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ไม่ได้จ่ายในส่วนนี้

จากคำถามดังกล่าว นพ.พงศธรจึงเสนอให้มีการยุบรวมกองทุนทั้ง สปสช. และ สปส. และตั้งเป็น กองทุนสุขภาพใหม่สำหรับผู้ประกันตน และผู้มีสิทธิ 30 บาท โดยร่างกฎหมายเฉพาะ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการทำดีมานด์ไซด์ ในเรื่องการจัดระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวแล้ว ในส่วนของซัพพลาย คือ การจัดระบบบริการให้ดีก็ต้องเดินควบคู่กัน ซึ่งนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดทำ 12 เขตบริการสุขภาพ ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้การบริหารจัดการเป็นระบบขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ การจัดสรรกำลังคนก็จะง่ายขึ้น นั่นเพราะมีการรวมตัวกันของกลุ่มจังหวัด พื้นที่ละ 5-7 จังหวัด ต่อ 1 เขตบริการสุขภาพ ตรงนี้จะเป็นการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ที่เข้าใจปัญหากันเอง เหมือนกรณีไต้หวัน มีการจัดการลักษณะนี้ เพื่อแก้ปัญหาแพทย์ล้น และแพทย์ขาดในบางพื้นที่ โดยการร่วมกับโรงเรียนผลิตแพทย์เฉพาะเขตพื้นที่นั้นๆ และมีเงื่อนไขห้ามทำงานนอกพื้นที่ กลายเป็นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

"ดังนั้น การจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบประกันสุขภาพไทย นอกจากการสร้างการรักษามาตรฐานเดียว อย่างข้อเสนอรวม 2 กองทุนแล้ว ก็ต้องมีการเดินหน้าพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ การจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอด้วย ซึ่งเขตบริการสุขภาพถือเป็นคำตอบ"นพ.พงศธรกล่าว

แต่ข้อเสนอดังกล่าว หากไม่ถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงคงไม่ได้...

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เห็นว่า หากจะให้ผู้ประกันตนโอนไปอยู่กับกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ต้องถามว่าผู้ประกันตนยังต้องจ่ายเงินสมทบในสัดส่วน 0.88% ซึ่งเป็นสัดส่วนกรณีเจ็บป่วยจากสัดส่วนทั้งหมดที่ผู้ประกันตนต้องจ่าย 5% นอกเหนือจากที่ภาครัฐและนายจ้างจ่ายแล้ว หากต้องจ่ายอีกก็ไม่สมควร และไม่ยุติธรรม เนื่องจากผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ต้องจ่ายสมทบ ภาครัฐออกให้ จึงเห็นว่าผู้ประกันตนก็ควรได้รับสิทธิเหมือนกัน โดยภาครัฐควรออกให้เช่นกัน และสัดส่วนที่ผู้ประกันตนเคยจ่าย 0.88% ที่เคยให้กับ สปส.ก็ควรนำไปไว้ในสิทธิประโยชน์กรณีอื่นๆ โดยเฉพาะกรณีชราภาพ เนื่องจากจะได้คืนในบั้นปลายชีวิต

"หากให้พวกเราไปอยู่โดยไม่ต้องจ่ายเหมือนเดิม เชื่อว่าก็ไม่มีปัญหา แต่หากสุดท้ายยังต้องจ่ายอีก และจะมั่นใจได้อย่างไรว่า สิทธิประโยชน์ต่างๆ จะดีกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพ เพราะปัจจุบันในระบบของ สปสช.เองก็ยังมีปัญหาเช่นกัน อย่างการเข้าถึงบริการก็ยังมีปัญหาอยู่" นายชาลีกล่าว

ทางฟาก สปสช. อย่าง นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ออกมาพูดอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ในมาตรา 10 เปิดช่องให้มีการหารือกันทั้ง สปสช. และ สปส. แต่ประเด็นคือ ยังไม่มีความคืบหน้า ส่วนข้อเสนอใดๆ ก็เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น

งานนี้ไม่รู้จะจบอย่างไร คงต้องติดตามต่อไป!

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 26 ตุลาคม 2556