ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ก่อนเข้าบทความมีคำถามจากแฟนคอลัมน์ถามมาว่า เหตุใดมหาวิทยาลัยจึงต้องทำวิจัย ในเรื่องนี้ขอเล่าให้ฟังว่า ผู้เขียนมีโอกาสร่วมระดมความคิดเห็นที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 จัดโดยสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ช่วงหนึ่ง ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ กรรมการสภามหา วิทยาลัยแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า

ตอนนี้มีมหาวิทยาลัยบางแห่งเปิดหลักสูตรจ่ายครบจบแน่ รวมทั้งจัดอันดับคุณภาพสถาบันการศึกษาระดับโลกที่มีจุดประสงค์ต่างกัน เช่น Aca demic Ranking of World Universities (ARWU) จะเน้นเฉพาะคุณภาพการวิจัย โดยมีมหาวิทยาลัยใน ASEAN ที่ติดลำดับจากมหาวิทยาลัย 500 แห่งคือ 1.NUS ประเทศสิงค โปร์ 2.Nanyang ประเทศสิงค โปร์ 3.U Malaya ประเทศมาเลเซีย แต่ไม่มีประเทศไทยติดลำดับ สำหรับการจัดลำดับของ QS World University Rankings (THE WUR) ซึ่งเน้นคุณภาพการเรียนการสอน มีมหาวิทยา ลัยไทยติดอันดับ 2 แห่งคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลำดับที่ 48 และมหาวิทยาลัยมหิดล ลำดับที่ 44

ประเด็นดังกล่าวน่าจะเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดมหาวิทยาลัยของไทยจึงจำเป็นต้องผลิตงานวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยให้เท่าเทียมกับมาตรฐานโลกนั่นเอง

วันนี้จะขอกล่าวถึงอาชีพพยาบาลของไทย ซึ่งปัจจุบันกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก จากข้อมูลของสภาการพยาบาล ปัจจุบันมีพยาบาล ที่ประกอบวิชาชีพอายุต่ำกว่า 60 ปีกว่า 150,000 คน ในจำนวนนี้ทำงานในระบบบริการจริงๆกว่า 130,000 คน ซึ่งแต่ละปีวิทยาลัยพยาบาลสามารถผลิตพยาบาลได้ถึง 8,000-9,000 คน และคาดว่าตั้งแต่ปี 2556-2560 จะสามารถผลิตพยาบาลเพิ่มได้ 10,000 คนต่อปี แต่ก็อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะคาดการณ์ว่าในปี 2560 ความต้องการพยาบาลจะเพิ่มมากถึง 50,000 คน (ในสัดส่วนจำนวนประชากร 70 ล้านคน)

จากการศึกษายังพบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการหมุนเวียนเข้าออกของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวเป็นประจำ โดยเฉพาะในกลุ่มพยาบาลวิชาชีพอายุน้อยที่ทำงานใหม่ไม่เกิน 5 ปี โดยเมื่อสิ้นสุดปีแรกร้อยละ 50 ของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวที่เข้าทำงานใหม่จะลาออกไปอยู่ภาคเอกชนเมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 และที่ยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการก็จะลาออกอีกประมาณร้อยละ 15-20 แม้จะมีบางส่วนทยอยได้บรรจุเป็นข้าราชการ แต่เป็นการบรรจุทดแทนผู้ที่เกษียณอายุหรือผู้ลาออกจากราชการ ไม่ได้มีอัตราตั้งใหม่แต่อย่างใด

ปัญหาขาดแคลนพยาบาลโดยเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐ ปัจจัยสำคัญคือ "งานหนัก เงินน้อย" ไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน จึงทำให้เกิดปัญหาสมองไหลไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก แม้จะทำงานหนักเช่นกัน แต่ได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่า รวมทั้งการทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ พยาบาลจะได้รับการบรรจุเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว ไม่ใช่ลูกจ้างประจำซึ่งมีฐานะเป็นข้าราชการ หากต้องการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำจะต้องรอเป็นเวลานานกว่าจะมีตำแหน่งว่าง ซึ่งบางครั้งอาจต้องรอนานถึง 10 ปี

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พยาบาลหลายแห่งประท้วงที่หน้ารัฐสภา เพราะต้องการความเป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบันวิชาชีพพยาบาลไม่มีการบรรจุให้เป็นลูกจ้างประจำ ทั้งค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่เพียงพอต่อวิชาชีพ อีกทั้งโรงพยาบาลของรัฐต้องให้เข้าเวรตลอดเวลา ไม่สามารถลาหยุดได้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาล เพราะพยาบาลไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดความเครียด และกระทบต่อคุณภาพของงานด้วย

พยาบาลสภากาชาดไทยบางส่วนเสนอแนวทางแก้ปัญหา เช่น รัฐควรปรับค่าตอบ แทนและสวัสดิการให้มากขึ้น บรรจุให้พยาบาลเป็นลูกจ้างประจำแทนลูกจ้างชั่วคราว อยากให้รัฐบาลแบ่งปันงบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น อยากเห็นพยาบาลมีโอกาสเข้าสู่เวทีการเมืองมากขึ้นเพื่อต่อสู้ให้กับวงการพยาบาล ควรให้ทุนนักเรียน เข้ามาเรียนพยาบาลโดยมีสัญ ญาการทำงานโดยใช้ทุนในโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักเรียนที่มีฐานะยากจนได้เข้าถึงระบบการศึกษา เพิ่มงบประมาณในการจัดซื้อจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้มีคุณ ภาพเพื่อให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นที่จะไปใช้บริการ ซึ่งจะเป็นการลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายความคิดเห็นที่มิได้นำมาถ่ายทอด แต่เสียงเรียกร้องของคนเหล่านี้ต่างก็มีความมุ่งมั่นจะเป็นพยาบาลที่ดี และอยากเห็นโรงพยาบาลของรัฐมีการพัฒนาที่ทัดเทียมกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสมองไหล เนื่องมาจากต้องแบกรับภาระการดูแลผู้ป่วยจำนวนมากจนเกิดความเครียด ทำให้เกิดความขาดแคลนพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐอย่างไม่สิ้นสุด

ผู้เขียนจึงทำหน้าที่เสนอความคิดให้นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำไปพิจารณาด้วย

--โลกวันนี้วันสุข ฉบับวันที่ 26 ต.ค. - 1 พ.ย. 2556--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง