ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสารรมควันในข้าวสาร พบ 6 ราย เกินมาตรฐาน พร้อมพัฒนาชุดทดสอบหาสารรมควัน แจกผู้ประกอบการกว่า 100 ราย สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เชิญสมาคม ผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และผู้ประกอบการค้าข้าวกว่า 100 ราย มารับฟังแนวทางการผลิตและการรมข้าวที่ถูกต้อง พร้อมทั้งจะมีการ เปิดเผยผลการตรวจสอบหาสารรมควันในข้าวสารไทยเพิ่มเติม เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์แจ้งมาว่าช่วงเดือนกันยายน 2556 มีผู้ประกอบการข้าวถุงระบุว่าเป็นเดือนที่พบปัญหามอดเยอะ และกำจัดยาก ต้อง รมควันบ่อยขึ้น กังวลว่าจะมีการดื้อสารรมควันหรือไม่ กรมจึงทำการตรวจสอบสารรมควันในข้าวสาร จนพบว่ายังมีสารรมควันตกค้างอยู่ แม้ปริมาณจะไม่มาก แต่ก็ได้มีการเตือนไปยังผู้ประกอบการให้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว

"เบื้องต้นพบมีผู้ประกอบการข้าวสาร 6 ราย ที่มีสารรมควันเกินมาตรฐานที่กำหนด 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือค่าพีพีเอ็ม (PPM) โดยมี 1 ราย ที่มีสารรมควันเกินมาตรฐานประมาณ 0.3 พีพีเอ็ม หรือเกือบ 2-3 เท่า แต่พบว่าเป็นข้าวสารกระสอบ ทำให้ติดตามแหล่งผลิตยาก ส่วนอีก 5 ราย เป็นข้าวสารถุงพบปริมาณไม่มากนัก เพียง 0.12-0.17 พีพีเอ็ม ซึ่งไม่ส่งผลต่อร่างกาย แต่กรมได้แจ้งเตือนไปแล้ว และจะตรวจสอบซ้ำอีก หากตรวจรอบที่ 3 พบว่าเกินมาตรฐานก็จะแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ดำเนินการทันที" นพ.อภิชัยกล่าว และว่า นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าว กรมจะเปิดตัวชุดทดสอบตรวจหาสารรมควันข้าวเป็นครั้งแรก โดยจะแจกให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ค้าข้าวไทยทุกราย เพื่อนำไปตรวจสอบสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคด้วย

นพ.อภิชัยกล่าวว่า ชุดทดสอบชนิดนี้ เป็นชุดทดสอบชุดแรกของไทยสำหรับการตรวจหาสารรมควันในข้าวสารชนิดสารฟอสฟีน (Phosphine) หรือสารไฮโดรเจนฟอสไฟด์ ซึ่งเป็นสารรมควันในยุ้งฉางเก็บข้าวหรือธัญพืช โดยเป็นการตรวจเบื้องต้นว่ามีสารรมควันหรือไม่ หากต้องการทราบว่ามีปริมาณมากน้อยแค่ไหน จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมในห้องปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ชุดทดสอบดังกล่าว ทีมวิจัยได้พัฒนาน้ำยาตรวจหาสารรมควันโดยเฉพาะ วิธีการทดสอบ เริ่มจากนำข้าวสาร 10 กรัม บรรจุในขวดที่จัดเตรียมและหยดน้ำยาลงไป จากนั้นหยดน้ำยาอีกชนิดลงในแถบกระดาษกรองพิเศษ และนำมาจุ่มตรงปากขวด เพื่อให้ได้ไอระเหยจากน้ำยาที่ทำปฏิกิริยากับข้าวสาร จากนั้นสังเกตปลายกระดาษกรอง หากพบมีสีดำแสดงว่ามีสารรมควัน ซึ่งใช้เวลาเพียง 10-20 นาที ในการตรวจสอบ เบื้องต้นกรมอยู่ระหว่างยื่นจดสิทธิบัตร

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 29 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--