ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คลังเล็งเพิ่มสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ เบิกค่าอุปกรณ์รักษาใหม่ 80 รายการ เริ่ม พ.ย.นี้

ข่าวสด - นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมเตรียมเพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการ หลังสามารถลดงบประมาณเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการในปีงบประมาณ 2556 ได้กว่า 1,000 ล้านบาท จากการตั้งงบประมาณไว้ที่ 6 หมื่นล้านบาท แต่ข้าราชการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมกันเพียง 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากยอดเบิกจ่ายจริงในปีงบประมาณ 2555 ที่อยู่ในระดับ 6.1 หมื่นล้านบาท

สำหรับสิทธิที่จะเพิ่มให้ข้าราชการ อาทิ ค่าห้อง ค่าอาหาร ซึ่งปัจจุบันให้สิทธิเบิกที่ 600 บาทต่อคืน ถือว่าน้อยมาก จึงกำลังศึกษาว่าควรจะเพิ่มเป็นเท่าใด นอกจากนี้ยังเตรียม เพิ่มอุปกรณ์ในการรักษาใหม่ๆ อีก 80 รายการ อาทิ ข้อเข่าเทียม สายบายพาสหัวใจ อุปกรณ์ชิพสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน เครื่องช่วยฟังแบบที่สามารถฝังไว้ข้างหูสำหรับผู้สูงอายุจากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 350 รายการ

"ขณะนี้กำลังนำรายการเบิกจ่ายในปัจจุบันมาพิจารณาปรับปรุง และเพิ่มอุปกรณ์ใหม่ๆ เข้าไป คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2556" นายมนัสกล่าว

ทั้งนี้ ค่ารักษาพยาบาลในปีงบประมาณ 2556 ที่ปรับลดลงกว่า 1,000 ล้านบาทนั้นเกิดจากการที่กรมบัญชีกลางได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์ในการจ่ายยาของข้าราชการใหม่ โดยได้กำหนดแนวทางการเบิกจ่ายยาไว้ 4 แผน คือ ABCD โดยให้ข้าราชการใช้ยาในบัญชีหลักที่ผลิตในไทยก่อน หากยาบัญชีหลักใช้ไม่ได้จึงจะให้ใช้ยานอกบัญชี หรือยานำเข้าจากต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่จะมีราคาแพงกว่ายาบัญชีหลัก

"ประกาศใหม่นี้ทำให้ค่ายาในการรักษาลดลงไปมาก และสามารถจะใช้ยาในบัญชีหลักผสมกับยานอกบัญชีได้ จากเดิมไม่สามารถผสมกันได้ ซึ่งในระบบใหม่แพทย์ที่รักษาจะต้องระบุว่ายานอกบัญชีที่ต้องใช้นั้นเพราะอะไรเป็นรายตัวยา ไม่ใช่เหมารวมในการจ่ายยาแต่ละครั้งเหมือนในอดีต" นายมนัสกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการว่าจ้างสำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) เพื่อให้มาช่วยตรวจเช็กการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ตรงนี้ทำให้แพทย์ และผู้รักษาไม่กล้าเบิกยาเกินจริง ซึ่งช่วยทำให้งบประมาณที่จะใช้ลดลง โดยในปีงบประมาณ 2557 นี้ยังตั้งงบสำหรับค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไว้ที่ 6 หมื่นล้านบาทเท่ากับปีที่ผ่านมา

นายมนัส ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังร่วมกันพิจารณาในเรื่องสิทธิประโยชน์ของการรักษาใน 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ คือกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกัน จากก่อนหน้านี้มีความร่วมมือกันในเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน โดยเตรียมขยายไปยังโรคอื่นๆ อาทิ มะเร็ง เอดส์ เป็นต้น

ที่มา --ข่าวสด ฉบับวันที่ 29 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--