ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "ภาวะสังคมสูงวัยในอาเซียน: ความท้าทายทางด้านแรงงานในอนาคตอันใกล้ที่ไทยต้องเตรียมรับมือ"

ประเด็นสำคัญ ดังนี้

• หลายประเทศในแถบอาเซียนกำลังย่างเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยเฉพาะไทยและสิงคโปร์ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนประเทศอื่น ซึ่งมีผลต่อจำนวนแรงงานและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

• เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมากของประเทศเพื่อนบ้าน อาจส่งผลให้ความต้องการแรงงานภายในประเทศนั้นๆเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น การเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือเข้าสู่ประเทศไทยจากประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มลดลงในอนาคต นอกจากนี้ไทยอาจประสบปัญหาสมองไหลของแรงงานมีฝีมือ หากประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มขยายธุรกิจ

• จากการศึกษาการรับมือสังคมสูงวัยของประเทศชั้นนำ ภาคเอกชนควรมีการปรับตัวด้วยการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพและจัดการความรู้ในองค์กรอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการปรับค่าจ้างและสวัสดิการให้เหมาะสมต่อตำแหน่งงาน เพื่อเป็นการดึงแรงงานนอกระบบกลับ หรือการเพิ่มแรงจูงใจให้แก่บุคคลที่ยังสามารถทำงานได้ นอกจากนี้ ควรยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศให้เน้นการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆแทนการใช้แรงงาน

• ภาครัฐควรมีมาตรการเชิงรุกควบคู่กับการปรับตัวของภาคเอกชน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้คงอยู่ โดยควรให้ความสำคัญด้านการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อตอบโจทย์ทิศทางแรงงานในอนาคต รวมถึง ส่งเสริมสุขภาพของประชาชน

สังคมสูงวัยหรือ Aging Society นับเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจอย่างกว้างขวางในระยะนี้ โดยหากพิจารณาถึงโครงสร้างประชากรภายในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าหลายประเทศในกลุ่ม AEC จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่กลายเป็นความท้าทายด้านโครงสร้างประชากรในหลายๆมิติในระยะ 15- 25 ปีข้างหน้า ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียด จะพบถึงผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้นำเสนอประเด็นวิเคราะห์สำคัญที่จะส่งผ่านเหตุของสังคมสูงวัยไปสู่ผลต่อเนื่องและความท้าทายที่ประเทศกลุ่ม AEC จะต้องเผชิญดังต่อไปนี้

โครงสร้างสังคมสูงวัยและประเด็นทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตาในอาเซียน

การเข้าสู่สังคมสูงวัย คือ ภาวะที่ประเทศมีสัดส่วนของประชากรผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ10 ของประชากรทั้งประเทศ หากพิจารณาตัวเลขประชากรตามรายงาน UN World Population Prospects: The 2012 Revision พบว่า ปี 2553 ภูมิภาคอาเซียนมีสัดส่วนของประชากรสูงวัยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 ในขณะที่สัดส่วนของประชากรสูงวัยทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 11 โดยสิงคโปร์และไทยเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัย ก่อนประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน โดยมีสัดส่วนประชากรสูงวัยกว่าร้อยละ 14 และ 12 ตามลำดับ และยิ่งจะต้องเผชิญกับการเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยสมบูรณ์และสังคมสูงวัยสุดยอดอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ในอนาคตสัดส่วนประชากรสูงวัยของประเทศในอาเชียนส่วนใหญ่ ต่างเริ่มมีการทยอยปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่สัดส่วนประชากรวัยแรงงานของบางประเทศกลับลดลง อาทิ เวียดนาม เมียนมาร์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่เคยมีข้อได้เปรียบด้านจำนวนประชากรวัยแรงงานในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าบางประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ยังมีการขยายตัวของสัดส่วนประชากรวัยแรงงานต่อเนื่อง จึงถือเป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอภาวะสังคมสูงวัยโดยรวมของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งอาจช่วยบรรเทาปัญหาการทดแทนแรงงานภายในภูมิภาคได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราการพึ่งพิงของผู้สูงวัยต่อคนในวัยแรงงานของอาเซียน จะพบว่า ปัจจุบัน คนหนุ่มสาว 100 คน จะต้องรับผิดชอบผู้สูงวัยประมาณ 13 คน และจะเพิ่มเป็น 21และ 31 คน ในช่วง 15 และ 40 ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้สูงวัยซึ่งมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นนั้น อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่มีผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นสำคัญไว้ ดังนี้

1.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและประสิทธิภาพของแรงงานในระบบ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ยังต้องพึ่งพาแรงงาน รวมไปถึงตำแหน่งงานที่ต้องอาศัยทักษะ อาทิ แพทย์ ซึ่งในปัจจุบันค่อนข้างขาดแคลนอยู่แล้ว ในขณะที่ อายุเฉลี่ยของแรงงานที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกับประสิทธิภาพงานและการสร้างสรรค์งานอีกด้วย นอกจากนี้ ความต้องการแรงงานในประเทศอาเซียนกลุ่มที่เคยเป็นผู้ส่งออกแรงงานไร้ฝีมือมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อาทิ เมียนมาร์ สปป. ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่มีแรงงานเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากเป็นอันดับต้นๆ ยิ่งสะท้อนความเป็นไปได้ที่แรงงานของประเทศเหล่านี้อาจะเดินทางกลับไปทำงานในประเทศของตนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อสภาพแรงงานในประเทศที่มีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวสูง ดังเช่นไทย และมาเลเซีย

2.ความสามารถในการบริโภคและการออมโดยรวมมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากกลุ่มวัยแรงงานต้องแบกรับภาระของผู้สูงวัยมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภาษี ผนวกกับกำลังซื้อของกลุ่มคนสูงวัยในอาเซียนยังมีไม่สูง จึงอาจทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ชะลอตัวได้

3.ความท้าทายต่อความสามารถในการจัดหาและจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพ การจัดการสวัสดิการและบริการสาธารณะ และการบริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งภาระที่เพิ่มขึ้นของรัฐนี้ ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประเทศที่ยังมีภาระทางการเงินของรัฐบาลในระดับสูง รวมทั้งยังมีข้อจำกัดในการบริการงานด้านสาธารณสุข

เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเติบโตรุดหน้า ... อาจดึงดูดแรงงานไหลกลับประเทศ

ในปี 2555 ประเทศไทยมีจำนวนกำลังแรงงานไทย 39.4 ล้านคน และจากสถิติที่เป็นทางการของกระทรวงแรงงานพบว่า มีแรงงานต่างด้าวที่มาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนราว 1.13 ล้านคนทั้งที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายและเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือมีสัดส่วนราวร้อยละ 90 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด และทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม หรืออุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงงานที่คนไทยไม่พึงประสงค์ได้แก่งานที่เสี่ยงอันตราย ยากลำบากและสกปรก (Dangerous, Difficult, and Dirty: 3D) อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้างหรือเกษตร

เมียนมาร์ กัมพูชา และสปป. ลาวเป็นแหล่งอุปทานแรงงานสำคัญเนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างประชากรในประเทศดังกล่าวอยู่ในช่วงสัดส่วนประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดแรงงานยังไม่สามารถรองรับแรงงานในประเทศได้ทั้งหมด ทั้งนี้ สัดส่วนแรงงานเมียนมาร์มีราวร้อยละ 80 ของแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือทั้งหมด ซึ่งคาดว่าแรงงานเมียนมาร์จะมีอยู่ในไทยประมาณ 9 แสนคน โดยแบ่งเป็นการอยู่อย่างถูกกฎหมายประมาณ 814,908 คน ณ เดือน ก.ค. 2556 และเข้าเมืองอย่างไม่ถูกกฎหมายอีกกว่า 1 แสนคน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไทยในอนาคต อาจไม่สามารถแก้ไขได้จากการพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้ทั้งหมด เนื่องจาก แนวโน้มโครงสร้างประชากรของประเทศเพื่อนบ้านในช่วงอายุที่เหมาะสมกับการทำงานประเภท 3D คือ 20-40 ปี มีแนวโน้มลดลงในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านยังมีผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากเศรษฐกิจของเมียนมาร์ และกัมพูชาขยายตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 7 ต่อปี และการขยายตัวของกำลังแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านในระยะอันใกล้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.5 – 3 ต่อปีเหมือนในอดีต ในปี 2560 เมียนมาร์และกัมพูชาจะมีความต้องการแรงงานเพิ่มประมาณ 1.6 ล้านและ 1 ล้านอัตรา ตามลำดับ ซึ่งอุปทานแรงงานส่วนหนึ่งจะมาจากกลุ่มบุคคลที่เติบโตเข้าสู่วัยแรงงานในประเทศ และหากยังไม่เพียงพอ แรงงานที่อพยพมายังประเทศเพื่อนบ้านอาจโยกย้ายกลับไป จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือเข้าสู่ประเทศไทยจากประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มลดลงหรือมีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับประเทศในอนาคตได้

ส่วนอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานที่มีฝีมือ อาทิ กลุ่มวิศวกร แพทย์ หรือกลุ่มผู้ที่เชี่ยวชาญในภาคบริการทางการเงิน อาจประสบกับปัญหาสมองไหลได้หากมีการเปิดเสรีแรงงานอาเซียน เนื่องจากอัตราค่าจ้างสำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือแรงงานที่มีศักยภาพสูงในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเฉลี่ยสูงกว่าในประเทศไทย อีกทั้ง ยังมีการมอบสิทธิพิเศษให้กับแรงงานต่างชาติในสาขาที่มีความต้องการสูงด้วย อย่างไรก็ดี การเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือจะเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอาเซียนได้นั้น ยังมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงนอกเหนือไปจากแรงจูงใจดังกล่าว อาทิ แนวโน้มการขยายตัวของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องของประเทศเหล่านี้ในระยะข้างหน้า ซึ่งต้องอยู่ที่ในระดับที่สูงพอที่จะกระตุ้นความต้องการแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศ ระดับค่าครองชีพและคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว เป็นต้น

แนวทางการรับมือกับโครงสร้างประชากรไทยของภาคเอกชนควรจัดการแบบบูรณาการ

ถึงแม้ว่าอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของไทยมีค่อนข้างสูง (ร้อยละ 77.2 ในปี 2554) และอัตราการว่างงานที่ต่ำ (ร้อยละ 0.89 ในเดือน ก.ค. 2556) แต่จากแนวโน้มกำลังแรงงานของไทยและอาเซียนที่ลดลง ปัญหาแรงงานไทยเชิงโครงสร้างที่แรงงานทำงานไม่ตรงสายความรู้และมีปริมาณแรงงานนอกระบบมาก ประกอบกับพลวัตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งผลต่อปริมาณแรงงานทั้งที่ไร้ฝีมือและมีฝีมือในอนาคต ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเล็งเห็นถึงความจำเป็นของภาคธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านแรงงานผ่านแผนเชิงรุกแบบบูรณาการ (Integrated Action Plan) เพื่อความยั่งยืนขององค์กร โดยศึกษาแนวทางการรับมือปัญหาด้านแรงงานจากสังคมสูงวัยของหลายประเทศซึ่งสามารถสรุปประเด็นที่ควรให้ความสนใจ ดังนี้

การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management)

การบริหารจัดการความรู้ในองค์กร (Organizational Knowledge Management)

อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรมีบทบาทในการสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจควบคู่กันไป อาทิ การพัฒนาระบบการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ โดยร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อสำรวจความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและระยะข้างหน้า เพื่อพัฒนาทักษะและความพร้อมของแรงงานหนุ่มสาวให้สามารถทดแทนแรงงานสูงวัยได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยในการวางแผนผลิตบุคลากรในระยะยาวอีกด้วย นอกจากนี้ ควรสร้างค่านิยมให้แก่การศึกษาสายวิชาชีพ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงและชี้ช่องทางการก้าวหน้า รวมไปถึงจัดให้มีหลักสูตรพัฒนาทักษะให้แก่กลุ่มแรงงานสูงวัยที่ยังมีรายได้ไม่สูงนัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานของคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง หรือ ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนและเพิ่มโอกาสในการทำงานของผู้สูงวัยการที่ประชากรสูงอายุมีสุขภาพที่ดีและยังอยู่ในภาวะที่สามารถทำงานได้ ย่อมช่วยยืดระยะเวลาในการสร้างรายได้