ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าตามที่องค์การอัมพาตโลกได้กำหนดให้วันที่ 29 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันรณรงค์อัมพาตโลก ซึ่งปี 2556 ได้กำหนดประเด็นสารรณรงค์สื่อสารเตือนภัยว่า “One in Six” หรือ “1 ใน 6 ไม่ใช่คุณ” เพื่อแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงที่น่ากลัวของโรคหลอดเลือดสมองว่า ทุก 6 วินาที จะมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน โดยมีคำขวัญในการรณรงค์ว่า “Because I care” หรือ “เพราะฉันใส่ใจ” เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนัก และระวังภัยอันตรายของโรคหลอดเลือดสมองยิ่งขึ้น

โรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรียกกันว่าโรคอัมพาตเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงซึ่งส่งผลให้เกิดโรคดังกล่าว ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีประวัติญาติสายตรงเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม ภาวะน้ำหนักเกิน สูบบุหรี่และภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ อาการเตือนที่สำคัญ คือสมองขาดเลือดชั่วคราว โดยพบผู้ที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว 1 ใน 5 คน จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน และส่วนใหญ่จะพบใน 2-3 วันแรกหลังจากมีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว

 “สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคคือ มีอาการอ่อนแรงของหน้า แขน ขา ซึ่งจะเป็นซีกเดียวของร่างกาย สับสน พูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง มีปัญหาการพูด การมองเห็นลดลง 1 หรือทั้ง 2 ข้าง และมีปัญหาการเดิน มึนงง สูญเสียสมดุลของการเดิน สำหรับแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือ ควบคุม ป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีกิจกรรมทางกายที่เคลื่อนไหว อย่างกระฉับกระเฉงและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักไม่ปล่อยให้อ้วน จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และบุหรี่มือสอง”

ที่สำคัญคือต้องตระหนักถึงสัญญาณเตือนของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นให้รีบไปโรงพยาบาลโดยด่วนภายใน3 ชั่วโมง จะสามารถช่วยรักษาชีวิตและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงได้มากที่สุด ทั้งนี้ กรมการแพทย์โดยสถาบันประสาทวิทยาเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมหาวิทยาลัย กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร และภาคเอกชน เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างถูกต้อง