ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชี้ คนไทยเสี่ยงตายจากโรคหัวใจขาดเลือดสูง ติด 1 ใน 10 ของโรคที่มีอัตราตายสูงสุด

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนัก งานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคหัวใจเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตติดอันดับ 1 ใน 10 ของโรคที่มีอัตราการตายสูงสุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการป่วยเป็นโรคดังกล่าว ถึงปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้อง พัฒนาระบบดูแล โดยเฉพาะโรคหัวใจขาดเลือด ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่เสียชีวิตจากโรคนี้ สปสช.จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้มีการขยายเครือข่ายหน่วยบริการที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ และมาตรฐานอย่างทันเวลา และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2552 ผลการดำเนินการพบว่าผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดในอัตราเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 16 ในปี 2552 เพิ่มเป็นร้อยละ 35 ในปี 2555 จากกลุ่มเป้าหมาย 3,230 คน และผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2556 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,677 คน ได้รับการให้ยาละลายลิ่มเลือด 2,268 คน หรือร้อยละ 61.68 ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลดลงมาก

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า   จากรายงานมีผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด จำนวน 8 ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชน ทั้งนี้เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่สามารถพัฒนาระบบบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิได้ครอบคลุมทั้งจังหวัด และได้มอบนโยบายให้มีการติดตามเป็นระยะๆ เพื่อนำปัญหามาปรับปรุงแก้ไข รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในเครือข่ายและส่งเสริมให้มีการคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวและหลอดเลือดในชุมชนพัฒนาต้นแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งนี้ทีมงานเครือข่ายต้องมีเป้าหมายร่วมกันและพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเขตบริการสุขภาพที่ 8 ได้เตรียมแผนรองรับการพัฒนาสนับสนุนหน่วยงานที่มีศักยภาพในพื้นที่ให้เป็นแม่ข่าย ในการจัดบริการแบบไร้รอยต่อในเรื่อง โรคหัวใจและหลอดเลือดแม่ข่ายระดับเขต คือ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และแม่ข่ายในระดับจังหวัด ก็คือโรงพยาบาลจังหวัด โดยมีเป้าหมายให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ใน 7 จังหวัดอีสานตอนบน สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้

นพ.สุทธิ ถาวรยุติธรรม ประธานเครือข่ายโรคหัวใจจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า โรงพยาบาลหนองบัวลำภูมีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจัดเป็นยามาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน โดยโรงพยาบาลหนองบัวลำภูร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานีจัดทำโครงการพัฒนาระบบดูแลเครือข่ายโรคหัวใจขาดเลือด ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 5 แห่งในจังหวัดหนองบัวลำภูสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทั้งหมด คือ โรงพยาบาลศรีบุญเรือง โรงพยาบาลสุวรรณคูหา โรงพยาบาลนากลาง  โรงพยาบาลนาวัง และโรงพยาบาลโนนสัง ซึ่งผู้ป่วยทุกรายปลอดภัยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 5 พ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--