ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เกือบปีแล้วครับที่เรารณรงค์เรื่อง"ตรวจ...เพื่อก้าวต่อ"

การทราบผลเลือดเอชไอวีของตัวเองมีความสำคัญมากครับที่จะทำให้ชีวิตเราก้าวต่อไปได้ ผมไม่ได้หมายถึงแค่ว่าเมื่อไปตรวจแล้วพบว่าไม่ติดเชื้อ เราก็จะสบายใจไม่ต้องกังวลกับอนาคตเพราะถึงแม้ว่าผลตรวจจะออกมาว่าเราติดเชื้อเอชไอวีชีวิตเราไม่ได้เจอทางตัน ใน

ทางกลับกันผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่เราจะได้เข้าถึงการรักษาตั้งแต่ยังไม่เริ่มป่วยและเมื่อไม่ป่วยชีวิตก็จะดำเนินต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม จากการออกให้บริการปรึกษาและตรวจเอชไอวีนอกสถานที่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่พบว่ามีผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี 10 รายจาก 420  รายที่ตัดสินใจตรวจนั้น เป็นที่น่าเสียดายครับว่ายังไม่มีรายใดที่เดินเข้าสู่ระบบการรักษาเลย

หากลองนึกเหตุผลที่ 10 รายนี้ยังไม่เดินเข้าสู่ระบบแล้ว ก็พอไล่เรียงได้อยู่หลายประการครับ ประการแรกปัญหาอาจจะอยู่ที่ "กระบวนการให้คำปรึกษา" มีความเป็นไปได้ครับว่าในกระบวนการให้คำปรึกษานั้นอาจจะไม่ได้ทำให้ผู้รับบริการเข้าใจเรื่อง "เอดส์ รู้เร็ว รักษาได้" และสิทธิประโยชน์ในการรักษาเอชไอวี/เอดส์ของสิทธิการรักษาต่างๆ ที่ผู้รับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

เรื่องนี้ผู้ให้คำปรึกษาต้องเน้นย้ำครับว่าการตรวจพบเชื้อตั้งแต่ยังไม่ป่วยเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ได้ดูแลสุขภาพตั้งแต่ยังไม่ป่วย เพราะหากไปรักษาเมื่อเริ่มป่วยเอดส์แล้ว ผู้รับบริการก็จะเสียประโยชน์หลายอย่าง เช่น เสียเวลาในการไปรับบริการหากป่วยมากต้องนอนพักที่โรงพยาบาลก็จะเสียเงินเสียทอง เสียโอกาสในการเรียน การทำงาน และหากต้องการรักษาความลับเรื่องการติดเชื้อของตัวเอง การปล่อยให้ตัวเองป่วยแล้วค่อยไปรักษาก็ยิ่งจะรักษาความลับไม่ได้ และต้องย้ำอย่างหนักแน่นว่า การรักษารักษาเอชไอวี/เอดส์ ไม่ว่าสิทธิการรักษาใดก็ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหากผู้รับบริการไม่ไปรับการรักษาเพราะเหตุอันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจดังกล่าวนี้ ผมคิดว่าในฐานะผู้ให้บริการปรึกษาจะต้องปรับกระบวนกันยกใหญ่ทีเดียว

ประการต่อมา ผมคิดว่าเป็นเรื่อง "ความรู้สึก" ของผู้รับบริการ เป็นไปได้ว่าผู้รับบริการที่พบว่าตัวเองติดเชื้ออาจจะเข้าใจ ทุกอย่างตามกระบวนการให้คำปรึกษา แต่ยัง "กลัว" ที่จะไปรับการรักษา ความกลัวดังกล่าวอาจจะมาจากความเชื่อเดิมเรื่อง "เอดส์เป็นแล้วตาย" หรือ "เอดส์เป็นเรื่องน่ารังเกียจ" ทั้งอาจจะกลัวว่าเมื่อไปรับบริการรักษาแล้วคนอื่นจะรู้ว่าติดเชื้อ กลัวเรื่องการกินยาที่ต้องกินไปตลอดชีวิต บางรายที่อายุมากแล้วจะรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง และคิดว่าอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานจึงไม่ไปรักษา แต่ก็ต้องบอกว่าเรื่องเอดส์นั้น ความกลัวหรือความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ไม่ช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ สิ่งสำคัญคือต้องกล้าที่จะก้าวผ่านความรู้สึกต่างๆ ออกมาให้ได้เหมือนเมื่อครั้งที่ก้าวผ่านความกลัวในการตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีนั่นเองครับ

นอกจากความรู้สึกกลัวกังวลต่างๆ แล้ว ยังมีทัศนคติเรื่อง "ของดีต้องจ่ายเอง" อีกครับที่ทำให้ผู้รับบริการเข้าไม่ถึงการรักษา โดยพบว่าผู้ประกันตนส่วนหนึ่งเมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้วเลือกที่จะจ่ายค่ารักษาเองโดยเชื่อว่าการรักษาฟรี ยาฟรี ไม่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม การที่ต้องจ่ายค่ายาและค่าตรวจอื่นๆ เป็นระยะเวลานาน (ยาต้านไวรัสต้องกินต่อเนื่องไปตลอดชีวิต) ย่อมทำให้เกิดภาวะจ่ายไม่ไหวได้ในที่สุดจนผู้รับบริการตัดสินใจยุติการรักษา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากครับ เพราะข้อเท็จจริงคือ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ต้องมีระบบประกันคุณภาพการให้บริการและยาที่โรงพยาบาลจ่ายให้นั้นก็เป็นยาที่มีคุณภาพ รักษาเอชไอวี/เอดส์ได้ หากยาไม่มีคุณภาพจะไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนยาจาก อย.และโรงพยาบาลก็จะไม่สามารถนำมาใช้ได้ ดังนั้น ขอให้เชื่อมั่นใจคุณภาพในการรักษาระบบสาธารณสุขพร้อมที่จะดูแลผู้รับบริการไปตลอด แต่เราเองก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องนี้ให้ได้ด้วยครับ

ประการสุดท้าย ปัญหาอาจอยู่ที่ "หน่วยบริการ" ครับ เพราะอาจจะมีบางรายที่อยากเดินเข้าไปรับการรักษา แต่เมื่อเห็นคุณภาพในการให้บริการแล้วก็อาจจะถอยออกมาก่อนที่จะยื่นบัตรคิว

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การไม่ไปรักษาย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะป่วย และหากป่วยมาก การรักษาก็จะมีกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้นทำให้เราเสียเวลาที่โรงพยาบาลนานขึ้น และหากป่วยมากจนร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษาก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตครับ

ทุกวันนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตเพราะป่วยเอดส์ ซึ่งผมคิดว่าไม่ควรจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแล้วเนื่องจากการรักษาเอชไอวี/เอดส์ในบ้านเราก้าวหน้ามาก มีหมอเก่ง ยาดี และฟรีค่ารักษา จึงน่าเสียดายมากหากทราบผลเลือดแล้วว่าติดเชื้อ แต่ยังไม่ไปรับบริการรักษาที่โรงพยาบาลเพราะหลายรายที่เสียชีวิตเกิดจากไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี มารู้อีกทีก็เมื่อป่วยมากจนร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษาแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากเรารู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้วแต่ยังไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการรักษา สิ่งสำคัญก็คือจะต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อไม่ส่งต่อเชื้อไปยังคู่และป้องกันไม่รับเชื้อดื้อยาในกรณีที่คู่ของเราติดเชื้อและเริ่มยาต้านไวรัสแล้ว

และเมื่อไหร่ที่พร้อม...ก็ก้าวสู่การรักษาครับ รักษาก่อนที่จะป่วย เพื่อให้ชีวิตได้ก้าวต่อ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 5 พฤศจิกายน 2556