มูลนิธิเพื่อมนุษยธรรมและวิทยาศาสตร์ฯ ยูเออีมอบ 2 รางวัลระดับโลกให้ รพ.ศิริราช ในฐานะสถาบันที่ดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมียครบวงจร ยกย่อง'ศ.นพ.ประเวศ วะสี'ปูชนียาจารย์ด้านโลหิตวิทยา
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงว่า ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม ได้ไปร่วมงานประชุมวิชาการสมาพันธ์ธาลัสซีเมียโลก ณ กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อมนุษยธรรมและวิทยาศาสตร์ สุลต่าน บิน คาลิฟา อัล นายาน ยูเออี ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งครั้งแรกในปี 2556 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ได้มอบโล่ "รางวัลโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียนานาชาติ สุลต่าน บิน คาลิฟา" หรือรางวัล SITA ให้แก่ รพ.ศิริราช 2 รางวัล คือ 1.รางวัลสถาบันแห่งความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมีย (Sultan Bin Khalifa International Award for Center of Excellence) ซึ่งคัดเลือกจากสถาบันทางการแพทย์ 300 แห่งจากทั่วโลก และ 2.รางวัลประเภทบุคคล มอบให้แก่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ปูชนียาจารย์ด้านโลหิตวิทยา ภาควิชาการอายุรศาสตร์ รพ.ศิริราช ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการและงานวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อวงการธาลัสซีเมียอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นผู้ทำวิจัยกลไกการเกิดโรคทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งนำไปสู่การป้องกันรักษา และผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ ได้รับเชิญไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยหลายแห่งเกือบทุกทวีปทั่วโลก และมีบทความวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศมากกว่า 200 เรื่อง รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานด้านอณูพันธุศาสตร์ของอัลฟาและเบตาธาลัสซีเมีย และนำไปสู่การดูแลผู้ป่วยในทางคลินิก
ด้าน รศ.นพ.วิปร วิประกษิต กรรมการอำนวยการศูนย์ธาลัสซีเมีย กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทยเป็นพาหะธาลัสซีเมียร้อยละ 35 หรือประมาณ 18-20 ล้านคน ส่วนคนที่เป็นโรคร้อยละ 1 หรือประมาณ 7 แสนคน มีผู้ป่วย ที่มีอาการรุนแรง 4-5 หมื่นคน ซึ่งจำเป็น ต้องได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเกิด ที่ผ่านมา ได้ตรวจคัดกรองไปแล้วกว่า 1 แสนราย โดยให้การวินิจฉัยก่อนคลอด และตรวจวินิจฉัยในระดับอณูพันธุศาสตร์แก่คู่สมรสที่เป็นคู่เสี่ยงแล้วกว่า 2,500 คู่ สำหรับการรักษาโรคขณะนี้มีการวิจัยร่วมกับทีมวิจัยสหรัฐอเมริกา พัฒนายีนบำบัดโดยใช้สเต็มเซลล์ในการรักษา และจะเริ่มทำในผู้ป่วยคนไทยคนแรกในเดือนมกราคมปี 2557 คาดว่าการรักษานี้จะสำเร็จเป็นที่ยอมรับไม่เกิน 10 ปี
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 พฤศจิกายน 2556
- 90 views