ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus—ความไม่เท่าเทียมของชีวิตที่มอบให้ใบไม้ร่วงหล่นที่ชายขอบ “จันทราภา จินดาทอง” หรือ “แมว” รับรู้และเข้าใจถึงความซับซ้อนของธรรมชาติได้ดีเป็นอย่างยิ่ง

จันทราภาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ประจำรพ.อุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนประชากรชนกลุ่มน้อยและชาวพม่าอยู่อาศัยถึง70% จันทราภาดูแลงานประกันสุขภาพและกองทุนของผู้มีปัญหาด้านสถานะ และยังเป็นผู้จัดการของคลินิกกฎหมาย ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล ข้อกฎหมายในการช่วยเหลือด้านสถานะแก่กลุ่มบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะสิทธิ

ในบริบทของชายแดน งานที่จันทราภาทำจึงมีความซับซ้อนมากกว่าในบริบทของโรงพยาบาลชุมชนทั่วๆไป เริ่มตั้งแต่การทำบัตรและรับบัตรคนไข้ ที่การสื่อสารต่างภาษาอาจทำให้ตะกุกตะกักอยู่ได้บ้าง

“พี่น้องกะเหรี่ยงมักชื่อซ้ำกัน เราจึงต้องใส่ชื่อแม่ไว้หลังชื่อ บางทีการออกเสียงชื่อของคนไข้และเจ้าหน้าที่พยาบาลไม่เหมือนกัน บางทีเราต้องยื่นโทรศัพท์ให้คุยกับคนที่แปลให้เราได้ เราเองก็ต้องฟังเท่าที่จะฝึกได้” จันทราภาเล่า “เมื่อก่อนเราคิดว่าเราจะช่วยแต่ชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น แต่หลังๆเริ่มมีพี่น้องชาวพม่ามาหาเรา เราก็ต้องพยายามสื่อสารกับเขา ส่วนผู้ป่วยจากศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยนั้น เขาจะใช้ภาษาอังกฤษ”

ผู้ป่วยนอกส่วนใหญ่จะมารักษาด้วยอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ประมาณ 30% ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ ส่วนผู้ป่วยในส่วนมากจะมาในสภาพที่แย่มาก มากกว่า 50% ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจันทราภาเชื่อว่าการคมนาคมที่ลำบาก การเดินทางที่ยาวไกลคือปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ป่วยไม่มารพ.จนกว่าอาการจะทรุดหนัก

ก่อนหน้านี้ มีกรณีเด็กติดเชื้อบาดทะยักมาจากฝั่งพม่า เนื่องจากแม่ใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดือ เขาเดินทางด้วยเวลามากกว่า 24 ชั่วโมงเพื่อมารพ.อุ้มผาง เมื่อมาถึงก็ถูกหามตัวส่งเข้าไอซียูโดยทันที ค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ประมาณ 140,000 บาท แต่ทางรพ.ไม่สามารถรีดเก็บจากเขาได้ ปัจจุบัน รพ.อุ้มผางเสียค่ารักษาพยาบาลด้านมนุษยธรรมกว่า 30 ล้านบาทต่อปี   

ตามคำบอกเล่าของจันทราภา เพียงแค่ในส่วนของงานรักษาพยาบาลของรพ.อุ้มผางก็มีงานที่ซับซ้อนอยู่แล้ว แต่ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก คืองานให้ความช่วยเหลือบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะ

ก่อนหน้านี้ จันทราภาร่วมงานกับครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งทำให้เธอได้มีโอกาสจับงานด้านประเด็นทางสถานะบุคคล รวมถึงกรณีการประกาศถอนชื่อคนอ.แม่อาย (ซึ่งมีสัญชาติไทย) 1,243 คนออกจากทะเบียนราษฎรในปี 2545 เนื่องจากมีประวัติเป็นชนกลุ่มน้อยและมิได้มีสัญชาติไทย ซึ่งมีผลให้ชาวแม่อายหลายครอบครัวประสบปัญหาหลายลักษณะ เช่น ถูกปลดออกจากงานราชการ ถูกบอกเลิกสัญญาเงินกู้ หรือถูกปฏิเสธสิทธิในการศึกษา ศาลปกครองสูงสุดจ.เชียงใหม่ได้พิพากษาเพิกถอนประกาศของทางอำเภอแม่อาย และให้ชาวแม่อายกลับสู่สภาพสถานะเดิมในอีก 3 ปีถัดมา

เมื่อจันทราภาเริ่มทำงานที่รพ.อุ้มผางตั้งแต่ปี 2553 กรณีแรกๆที่จันทราภาให้ความช่วยเหลือ คือเด็กคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่หลังรพ. แม้เกิดผืนแผ่นดินไทย แต่กลับไม่มีสัญชาติ เด็กคนนี้ ต้องขอติดรถรพ.เวลาออกไปข้างนอก เพราะกลัวถูกจับ จันทราภาได้ช่วยติดตามขั้นตอนการขอสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ 2551 เมื่อเด็กได้สัญชาติไทยในที่สุด เขาสามารถเข้าถึงการศึกษา สามารถกู้เงินเรียน มีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาล และได้รับสิทธิอื่นๆอีกมากมาย   

“มันเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งไปเลย” จันทราภากล่าว แม้การทำงานด้านสถานะบุคคลอาจจะลักลั่นอยู่บ้าง  

“จริงๆเราก็อยากรวย อยากสบาย ทำอย่างนี้ชีวิตเราคงไม่รวย เพราะเราไม่ได้สตางค์เพิ่ม แต่เราได้ให้โอกาสคนคนหนึ่งได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มันไม่ใช่เฉพาะตัวเขา แต่มันให้โอกาสกับคนข้างหลังของเขาด้วย”

อีกกรณีหนึ่งคือกรณีของชาวกะเหรี่องชื่อนายไหร่โผ ด้วยความช่วยเหลือของจันทราภา เขาจึงได้รับสัญชาติไทยในปี 2554 และได้เข้ารับการฟอกไตตามสิทธิบัตรทอง แต่ดูเหมือนจะสายเกินไป อาการป่วยที่เพาะบ่มมานานของเขาพาให้เขามีสภาวะการติดเชื้อ ความอ่อนแอของร่างกายพาเขาสู่ความตายในอีก 4 เดือนให้หลังจากได้รับสิทธิ

กว่า 10 ปีแล้ว ที่จันทราภาคลุกคลีอยู่ในวงการการทำงานด้านบุคคลมีปัญหาด้านสถานะ กฎหมายเอื้อในการพัฒนาสถานะบุคคลมากขึ้นหลังปี 2551 เช่น การประกาศล่าสุดของกระทรวงมหาดไทยในปี 2555 เพื่อให้สัญชาติบุตรของผู้ไม่มีสัญชาติ จันทราภาเล็งเห็นถึงช่องเปิดที่ถ่างกว้างขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสของบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะอีกมากมาย

“แต่ความซับซ้อนของปัญหาก็มากขึ้นตาม” จันทราภากล่าว

ก้อนปัญหาบ่มเพาะจากหลายด้าน ทั้งความไม่รู้ของผู้มีปัญหาด้านสถานะ ความไม่รู้ของเจ้าหน้าที่ การโยกย้ายเปลี่ยนงานของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ชายแดน เพราะความห่างไกลของพื้นที่ ทำให้การดำเนินการยื่นขอสถานะมักชะงักงันเสมือนมีกำแพงขวางกั้นในทุกด่าน กล่าวได้ว่า แต่ละกรณีนั้น จันทราภาต้องกัดไม่ปล่อย ต้องประสานหลายทิศหลายทางอย่างอดทน ในช่วง 3 ปีหลัง จันทราภาช่วยให้บุคลได้มีสัญชาติไทยได้ถึง 10 คน

เธอพูดว่า “แม้มีบางทีที่เหนื่อยบ้าง แต่พอเราเห็นคนหนึ่งทะลุไปได้ เป็นคนไทยได้ตามช่องทางที่เขาควรจะได้ ทำให้เรายังทำงานนี้ต่อไป”

แม้จะผ่านมาหลายปี แต่จันทราภายังคงจำความรู้สึกปลื้มปิติในครั้งแรกๆ ที่ตนสามารถช่วยให้คนไร้สถานะคนหนึ่งได้มีสัญชาติไทย  น้ำตาไหลอาบแก้มในตอนนั้นคงเป็นแรงผลักดันต่อเนื่องในวันนี้ ให้เธอยังคงให้ความช่วยเหลือคนชายขอบและต่อไปข้างหน้า อย่างไม่มีวันยอมจำนนต่อความยากซับซ้อนใดๆ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง