ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดลินิวส์ - ตามที่องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศกฎหมายความปลอดภัยอาหารฉบับใหม่ซึ่งได้ปรับปรุงหลักการควบคุมการนำเข้าสินค้าอาหารใหม่ โดยใช้แนวทางการยอมรับหน่วยรับรองทั้ง ภาครัฐและเอกชน ที่ได้รับการรับรองระบบงานจากหน่วยรับรองระบบงานที่ได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศ ว่าด้วยการรับรองอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกากำหนด

นับเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าอาหารของสหรัฐ อเมริกาเป็นครั้งแรกจากเดิมที่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ ไปตรวจสถานที่ผลิตอาหาร ณ ประเทศผู้ส่งออก ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะเร่งผลักดันให้หน่วยรับรองภาครัฐและเอกชนเป็นที่ยอมรับ ซึ่งสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มีความพร้อมในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว เนื่องจากได้ปฏิบัติตามมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากองค์การภูมิภาคแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงานแล้ว

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการ มกอช. เปิดเผยว่า "หากหน่วยรับรองหรือหน่วยตรวจของไทยได้รับการยอมรับ ผ่านช่องทางดังกล่าว ให้สามารถตรวจสอบและออกใบรับรองอาหารส่งออกไปยังสหรัฐได้ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ผลิตและผู้ ส่งออกอาหารของไทยให้ส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกาได้สะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยจะสามารถขยายปริมาณการส่งออกสินค้าอาหารได้เพิ่มขึ้น ทั้งยังลดปัญหาอุปสรรคด่านศุลกากรประเทศปลายทางด้วย" นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าว

เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมด้วย ว่า ปัจจุบันองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศร่างระเบียบฉบับย่อย จำนวน 2 เรื่อง คือ ระเบียบฉบับย่อยว่าด้วยแผนงานการทวนสอบผู้จัดหาสินค้าต่างประเทศ ซึ่งได้กำหนดระดับการปฏิบัติไว้แตกต่างตามชนิดของอาหาร ความเสี่ยงของอันตรายในอาหารแต่ละชนิด ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้าแต่ละกลุ่ม และผู้ปฏิบัติการควบคุมความเสี่ยงนั้น ๆ โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการจัดการความเสี่ยง เพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าสหรัฐอเมริกา มีกระบวนการผลิตเป็นไปตามหลักการป้องกันทางสาธารณสุขเทียบเท่ากับสินค้าของผู้ผลิตภายในสหรัฐอเมริกาเอง

และระเบียบฉบับย่อยว่าด้วยการตรวจรับรองผู้ตรวจประเมินที่สาม หรือการรับรองระบบงานหน่วยรับรอง โดยหน่วยรับรองระบบงานอาจเป็นหน่วยงานภาครัฐในต่างประเทศ หรือภาคเอกชนที่ให้บริการรับรองระบบงาน เพื่อตรวจประเมินและให้การรับรองสำหรับการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ ซึ่งร่างระเบียบฉบับย่อยทั้ง 2 ฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจอนุญาตนำเข้าอาหารและอาหารสัตว์ ซึ่งองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารให้เป็นไปตามกฎหมายอาหารที่สหรัฐอเมริกากำหนด และลดความซ้ำซ้อนในการตรวจสอบอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย

"ขณะนี้ มกอช. ได้เร่งศึกษารายละเอียดข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการรับรองระบบงาน พร้อมติดตามความคืบหน้าของข้อกำหนด และประสานกับองค์การอาหารและยาสหรัฐ อเมริกาอย่างใกล้ชิด ทั้งยังเร่งเตรียมความพร้อมโดยจัดทำแผนการดำเนินงานสำหรับการตรวจสอบรับรองตามกฎหมาย การฝึกอบรมผู้ประเมินของหน่วยรับรองตามเกณฑ์ที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกากำหนด และการเปิดให้การรับรองระบบงานแก่หน่วยรับรองหรือ หน่วยตรวจตามแนวทางขององค์การอาหาร และยาสหรัฐอเมริกาต่อไปด้วย ทั้งนี้เพื่อช่วยเสริมสมรรถนะการส่งออกให้กับสินค้าอาหารของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย" เลขาธิการ มกอช. กล่าว

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 พ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--