ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดประชุมชี้แจงเรื่องการตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลประกันสังคมทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ประจำปี 2556 เพื่อรับทราบแนวทางการตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการทางการแพทย์ (Medical Audit) อย่างเป็นระบบ และเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง  

ดร.อำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงเรื่องการตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลประกันสังคมทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ประจำปี 2556 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร ว่าสำนักงานประกันสังคมมีภารกิจสำคัญในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ให้ได้รับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิที่ผู้ประกันตนเลือกใช้บริการ เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลตามหลักและมาตรฐานทางการแพทย์จนกว่าจะหายหรือสิ้นสุดการรักษา

โดยสำนักงานประกันสังคมตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่สถานพยาบาลเป็นค่าตอบแทนค่าบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน ซึ่งรูปแบบการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เป็นการเหมาจ่ายรายหัวตามจำนวนผู้ประกันตนในอัตรา 1,446 บาท ต่อผู้ประกันตนหนึ่งคนภายในระยะเวลาหนึ่งปี และจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นจากเงินเหมาจ่ายสำหรับสถานพยาบาลที่ต้องรับภาระกรณีโรคที่มีภาระเสี่ยงตามอัตราการใช้บริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนในอัตรา 432 บาท ต่อผู้ประกันตนหนึ่งคนภายในระยะเวลาหนึ่งปี รวมทั้งการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลหรือผู้ประกันตนโดยคำนวณตามกลุ่มวินิฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups:DRGs) ที่มีค่าสัมพันธ์ปรับตามวันนอน (Adjusted Relative Weight:AdjRw) มากว่าหรือเท่ากับ 2 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแนบท้ายประกาศฯ

ซึ่งจากการที่สำนักงานประกันสังคมปรับเปลี่ยนวิธีการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ จึงจำเป็นที่สำนักงานประกันสังคมจึงได้จัดให้มีการประชุมชี้แจงขึ้นในระหว่างวันที่ 11 – 12 พฤศจิกายน 2556 โดยแบ่งออกเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 1 วัน โดยมีสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุมชี้แจง จำนวน 283 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับระบบบริการทางการแพทย์ และการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะแนวทางการตรวจสอบข้อมูลบริการทางการแพทย์ (Medical Audit) เพื่อสร้างความเข้าใจให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน สามารถปฏิบัติ   ตามแนวทางการตรวจสอบได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ความร่วมมือในการจัดส่งเวชระเบียน เพื่อการตรวจสอบข้อมูลบริการทางการแพทย์และการเบิกจ่ายให้มีคุณภาพบรรลุตามวัตถุประสงค์ อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพของข้อมูล คุณภาพของเวชระเบียนและคุณภาพของการบริการของสถานพยาบาลต่อไป

มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์งานประกันสังคม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ทุกแห่ง หรือโทร.1506 (บริการตลอด 24 ชั่วโมง)