ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พิมพ์ไทย - จากรายงานมีข้อมูลพบว่าเด็กทั่วโลกได้กินนมแม่น้อยลงหนึ่งในปัจจัยหลัง คือ อิทธิพลการโฆษณาและการตลาดของบริษัทนมผง ส่งผลให้เครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการตลอดจนองค์กรต่างๆ ออกเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกกำหนดกฎเกณฑ์ระดับโลกเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะกรณีการครอบงำจากอิทธิพลการโฆษณาและการตลาดของบริษัท และผลจากการขับเคลื่อนนี้จึงเป็นที่มาของ CODE

CODE คือคำย่อของ International Code of Mar keting of Breast-milk Substitutes หรือ หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ซึ่งที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) เมื่อปี 1981 มีมติให้การรับรอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก รวมทั้งได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องพร้อมอาหารตามวัยที่เหมาะสมเป็นระยะเวลา 2 ปี หรือนานกว่านั้น

เนื่องจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันทางวิชาการว่าดีต่อสุขภาพกายและใจของทั้งผู้เป็นแม่และทารกสาระสำคัญของ CODE อาทิ ห้ามโฆษณาและทำการตลาดสินค้าอาหารทารกและเด็กเล็กในทุกรูปแบบแก่ประชาชน ห้ามพนักงานบริษัทติดต่อกับหญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัว ห้ามบริจาคนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็ก ห้ามส่งเสริมธุรกิจอาหารทารกและเด็กเล็ก ห้ามติดสื่อโฆษณาภายในสถานพยาบาล ห้ามบุคลากรสาธารณสุขรับตัวอย่างนมผงและหยิบยื่นต่อให้แม่ ฯลฯ

กระนั้น CODE ในระยะแรกมีสถานะเป็นเพียง "ข้อแนะนำ" ทำให้เกิดการละเมิดข้อตกลงขึ้นในหลายประเทศด้วยเหตุนี้ ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ปี 2009 ผู้แทนประเทศสมาชิกจึงผลักดันให้สมัชชาอนามัยโลกเปลี่ยนหลักเกณฑ์ CODE จาก "ข้อแนะนำ" ไปเป็น "ข้อบังคับ" หรือ "กฎหมาย" เพื่อให้มีผลบังคับใช้ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ปัจจุบัน 38 ประเทศทั่วโลก มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์อินเดีย ศรีลังกา เนปาล เวียดนาม อัฟริกาใต้ บังคลาเทศ ฯลฯขณะที่อีก 44 ประเทศ มีกฎระเบียบที่ควบคุมบางส่วน สำหรับประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำกฎหมาย มีตัวอย่างสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศอาร์เมเนีย ที่สะท้อนความเป็นไปและปัญหาอุปสรรคกว่าที่เด็กๆ จะได้กินนมแม่ และเป็นสิ่งเดียวกับที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างต้องเผชิญ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

บทเรียนจากอาร์เมเนียหลังจากแยกตัวจากสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 ประเทศเกิดใหม่แห่งนี้ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และมีพันธกิจที่ต้องให้การรับรองในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็รวมถึงสิทธิของผู้หญิงและเด็กในขณะนั้นประเด็นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ประชาคมนานาชาติให้ความสนใจ ฝ่ายบริหารของอาร์เมเนียจึงมีการนำหลักปฏิบัติใน CODE ไปบรรจุในกฎหมายว่าด้วยเรื่องการโฆษณาและความปลอดภัยด้านอาหาร ที่ผู้ประกอบการนมผงและอาหารเลี้ยงทารกต้องยึดถือปฏิบัติ

อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวขาดมาตรการกำกับดูแลรวมทั้งไม่มีบทลงโทษหากมีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายนอกจากกฎหมายแล้ว ในปี 2003 กระทรวงสาธารณสุขของอาร์เมเนีย และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ยังร่วมกันจัดโครงการโรงพยาบาลเพื่อนเด็ก (Baby Friendly Hospital Initiative-BFHI) เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงพยาบาล ก่อนจะขยายผลไปยังโพลิคลินิก (Baby Friendly Polyclinic InitiativeBFPI) ทำให้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในอาร์เมเนียได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เป็นที่น่าเสียดายว่าในช่วง3-4 ปีที่ผ่านมา สถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 4 เดือนแรกของอาร์เมเนียมีอัตราการขยายตัวที่หยุดชะงัก สาเหตุหลักมาจากการดำเนินกลยุทธ์การตลาดของผู้ประกอบการนมผง ที่มีการตีพิมพ์รูปภาพและคำโฆษณาบนฉลากบรรจุภัณฑ์นม ในที่สาธารณะและผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งการแจกตัวอย่างนมผงผ่านบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งล้วนแต่ขัดต่อ CODE และกฎหมายของอาร์เมเนีย แต่เมื่อกฎหมายไม่กำหนดบทลงโทษ ผู้ประกอบการจึงทำการตลาดเชิงรุกโดยเสรีอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเปรียบเทียบสุขภาวะของเด็กในช่วงที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีอัตราสูงกับช่วงที่อัตราการกินนมแม่ต่ำกว่า เห็นได้ชัดเจนว่าการกินนมแม่น้อยทำให้เด็กชาวอาร์เมเนียเจ็บป่วยง่าย การเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ และมีน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ โดยการจัดทำร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาที่สอดรับกับข้อกำหนดใน CODE ที่ชัดเจน รวมทั้งกำหนดบทลงโทษในกรณีที่เกิดการฝ่าฝืน อย่างไรก็ตาม ในปี 2011 ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวถูกแก้ไขเนื้อหาที่สำคัญคือการตัดบทลงโทษกรณีมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของนมผงออก และเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ กระบวนการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวก็หยุดชะงักไป

ย้อนดูไทยกฎหมายคือความหวังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอาร์เมเนียดูคล้ายคลึงกับในประเทศไทย โดยกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2551 ยังขาดมาตรการบังคับและบทลงโทษ และในปี พ.ศ.2553 กรมอนามัย ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องจึงได้ยกร่างการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เสนอที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3

โดยที่ประชุมมีมติรับรองและให้พัฒนาเพื่อผลักดันเป็นกฎหมาย นพ.ดนัย ธีวันดา ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับใหม่ ว่าคล้ายคลึงกันกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ใช้ในปัจจุบัน แต่จะเพิ่มสาระสำคัญในส่วนของบทลงโทษ แม้จะเป็นโทษที่ค่อนข้างเบา แต่เป้าหมายคือต้องการตอกย้ำความเข้าใจและสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม

รวมทั้งเป็นการเพิ่มภาระในแง่ของขั้นตอนทางกฎหมายหากธุรกิจอาหารสำหรับทารกมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติในกฎหมาย ที่ผ่านมา เมื่อมีปัญหาเราทำได้แค่แจ้งเตือนผู้ประกอบการในลักษณะขอความร่วมมือ หากปรับฐานะเป็นพระราชบัญญัติน่าจะทำให้ผู้ประกอบการที่จะทำสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายคงต้องประเมินผลดีผลเสียมากขึ้น รวมทั้งบุคลากรของเราเองก็จะได้มีแนวทางในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

ด้านนางพรธิดา พัดทอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสาร องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ยอมรับว่าการผลักดัน CODE ให้เป็นกฎหมายในแต่ละประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย อุปสรรคสำคัญได้แก่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องประโยชน์ที่แท้จริงของนมแม่ว่าไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้ ในส่วนของประเทศไทยผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่สามารถผ่านเข้าสู่ขั้นตอนของรัฐสภา และไม่อาจแน่ใจได้ในเรื่องเนื้อหาซึ่งอาจมีการแก้ไขในระหว่างการพิจารณา ยังไม่รวมถึงในลำดับของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของบ้านเรา "หากประชาชนและสังคมมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้จะได้ช่วยกันติดตามและผลักดันกฎหมาย รวมทั้งปฏิบัติตัวได้เหมาะสมตามแนวทางซึ่งที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกกำหนดไว้" เจ้าหน้าที่องค์การยูนิเซฟ กล่าวในตอนท้าย--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย