ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ก่อนหน้าที่การผ่าตัดจะเจริญก้าวหน้าอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดล้วนแต่ต้องใช้ความอดทนในเผชิญกับความเจ็บปวดที่ได้รับจากการรักษา มีบันทึกที่เขียนเมื่อ พ.ศ. 2353 (ค.ศ.1810) ของ ฟรานเชส เบอร์นีย์ (Frances Burney) นักเขียนหญิงชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ที่ต้องทำการผ่าตัดเต้านมออกเนื่องจากมะเร็งที่เต้านม พรรณาถึงความเจ็บปวดจากการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดในครั้งนั้น เป็นการผ่าตัดที่ทำกันในยุคที่ยังไม่มีการค้นพบยาชา ยาสลบ แต่อย่างใด ดังนั้นสิ่งที่เธอต้องเผชิญคือความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส

“…เมื่อโลหะอันน่าสพรึงกลัวชิ้นนั้น เคลื่อนเข้าไปที่เต้านม กรีดผ่านเส้นเลือด เข้าไปถึงเนื้อ ถึงเส้นประสาท ไม่ต้องให้ใครมาบอกฉันเลยว่า ร้องออกมาได้เลยอย่ากลั้นเสียงไว้ เพราะฉันเริ่มกรีดร้องและร้องต่อเนื่องเกือบจะตลอดเวลาในระหว่างที่การผ่าตัดดำเนินไป...”  ความเจ็บปวดที่ผู้ป่วยต้องรับไว้บางครั้งก็หนักหนาสาหัสจนทำให้หลายคนไม่สามารถทนต่อพิษจากบาดแผลได้และสิ้นชีวิตไป ทำให้เกิดความพยายามจากผู้คนหลากหลายที่พยายามค้นหาสิ่งที่จะมาบรรเทาภาวะเช่นนี้

นอกจากบรรดาหมอศัลยกรรมแล้ว หมอฟันเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาความเจ็บปวดอันเกิดจากการถอนฟัน ฮอร์เลซ เวลล์ (Horace Well) หมอฟันชาวอเมริกันเป็นคนแรกที่พยายามจะทดลองนำเอา “แก๊สหัวเราะ”หรือ ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) มาใช้เพื่อเป็นยาระงับความรู้สึกแต่ก็ล้มเหลว

วิลเลี่ยม ทอมัส กรีน มอร์ตัน (William Thomas Green Morton) ผู้ใช้อีเทอร์ในการผ่าตัดเป็นคนแรก 

ส่วนคนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการใช้ยาระงับความรู้สึกได้เป็นคนแรกก็เป็นหมอฟันเช่นกัน วิลเลี่ยม ทอมัส กรีน มอร์ตัน (William Thomas Green Morton) หมอฟันแห่งเมืองบอสตัน เป็นคนแรกที่ทดลองใช้อีเธอร์ (ether) ในการทำให้ผู้ป่วยหมดสติก่อนทำการผ่าตัดได้สำเร็จ วิลเลี่ยม มอร์ตัน สนใจศึกษาในเรื่องการใช้ยาระงับความรู้สึกมาตั้งแต่เห็นการทดลองของเวลล์และได้เคยเข้าไปมีส่วนในการทดลองของเวลล์ด้วย

ในเวลาต่อมาเขาได้เข้าเรียนเป็นแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พร้อมกับความสนใจในเรื่องยาระงับความรู้สึก มอร์ตันพุ่งความสนใจไปที่อีเทอร์และได้ไปเรียนเคมีกับ ชาร์ล แจ็คสัน ( Charles T. Jackson) ที่ทำการทดลองเรื่องอีเทอร์อยู่ มอร์ตันได้ทำการทดลองใช้อีเทอร์กับสัตว์ คนไข้ของเขารวมไปถึงตัวเองด้วย จนสามารถคิดค้นเครื่องมือที่จะใช้ในการวางยาผู้ป่วยด้วยอีเทอร์อย่างได้ผล เขาเสนอเรื่องการทดลองใช้อีเทอร์ให้กับศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียงในเวลานั้นคือ จอห์น วอร์เรน (John Collins Warren) แห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบอสตัน ในการผ่าตัดเนื้องอกของผู้ป่วยรายหนึ่ง

ภาพเหตุการณ์ในวันที่ทำการทดลองผ่าตัดโดยใช้อีเทอร์

การสาธิตการใช้อีเทอร์ในครั้งนั้นมีขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2389 (ค.ศ. 1846) การวางยาได้ผลเป็นอย่างดีและได้รับการบันทึกว่าเป็นการใช้ยาสลบในการผ่าตัดอย่างได้ผลเป็นครั้งแรกในโลก และในวันต่อมายังมีการทดลองวางยาในการผ่าตัดผู้ป่วยอีกรายหนึ่งด้วย

แต่ทว่าความสำเร็จของมอร์ตันกลับไม่ได้นำพาความรุ่งเรืองในชีวิตมาให้เขา มีการฟ้องร้องกันในเรื่องการเป็นผู้คิดค้นการใช้อีเทอร์กับแจ็คสัน รวมไปถึงการที่เขาคิดจะแสวงหาความมั่งคั่งด้วยการอ้างตนเป็นผู้ค้นพบยาระงับความรู้สึก เขาพยายามปิดบังข้อมูลด้วยการแต่งสีและกลิ่นเพื่ออำพรางไม่ให้คนรู้ว่าสารที่เขาใช้คืออีเทอร์ เขายังตั้งชื่อมันว่า เลธีออน (Letheon) เพื่อประกาศว่าสารที่ใช้เป็นสารใหม่ที่เขาค้นพบเอง ทั้งๆ ที่อีเทอร์นั้นเป็นสิ่งที่หาได้อย่างแพร่หลาย แต่ความพยายามในการอำพรางของเขาไม่เป็นผล เรื่องราวทั้งหมดถูกเปิดโปง มอร์ตันสูญสียความน่าเชื่อถือในวงการและจบชีวิตลงด้วยวัย 48 ปี

ห้องที่ใช้ในการทดลองใช้อีเทอร์ในการผ่าตัดเป็นครั้งแรก ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 ของอาคารบุลฟินช์ (Bulfinch building) ของโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ เจนเนอรัล ฮอสพิตัล (Massachusetts General Hospital) ปัจจุบันเรียกกันว่า อีเทอร์โดม (Ether Dome

อย่างไรก็ดีแม้ว่ามอร์ตันจะได้รับการยอมรับว่าเป็นคนแรกที่ใช้ยาระงับความรู้สึกในการผ่าตัดก็ตาม แต่การทดลองใช้อีเทอร์ในการผ่าตัดมีมาก่อนหน้าที่มอร์ตันจะทำการทดลองแล้ว ศัลยแพทย์ครอฟอร์ด ลอง (Crawford Williamson Long) ได้ทำการผ่าตัดโดยใช้อีเทอร์เป็นยาระงับความรู้สึกมาตั้งแต่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2385 (ค.ศ.1842) แต่ไม่ได้เผยแพร่ผลการทดลอง กว่าจะมีการตีพิมพ์เผยแพร่ก็ล่วงไปถึง พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868)

นายแพทย์ซามูเอล เรย์โนลด์ เฮ้าส์ ( Rev. Samuel Reynolds House, M.D.) ใช้อีเทอร์ในการผ่าตัดเป็นคนแรกของสยาม เมื่อ พ.ศ. 2390 และอาจเป็นครั้งแรกในเอเชียด้วย 

สำหรับในประเทศไทยมีหลักฐานว่าหมอมิชชันนารีที่เข้ามาในสยามเมื่อครั้งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นายแพทย์ซามูเอล เรย์โนลด์ เฮ้าส์ ( Rev. Samuel Reynolds House, M.D.)  หรือที่คนไทยในสมัยนั้นเรียกกันว่า “หมอเหา” ได้ทดลองใช้อีเทอร์ในการผ่าตัดเอาไม้ไผ่ที่แทงเข้าไปในตัวหญิงชราผู้หนึ่ง เมื่อราว พ.ศ. 2390 (ค.ศ. 1847) หลังจากที่อ่านพบรายงานการใช้อีเธอร์ในการผ่าตัดจึงเกิดความสนใจที่จะนำมาทดลองใช้บ้าง เพื่อลดความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัด บางคนให้ความเห็นว่าถ้าเป็นจริงเช่นว่า นี่อาจเป็นการใช้อีเทอร์เป็นยาระงับความรู้สึกในการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในเอเชีย

เรื่องราวของการแสวงหายาระงับความรู้สึกในการผ่าตัด ทำให้เราเห็นว่าในโลกตะวันตกการคิดค้นสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์ในด้านการแทพย์ มักจะสัมพันธ์ไปกับการหาประโยชน์ส่วนตัว แต่ก็ยังมีคนอีกประเภทหนึ่งที่เห็นว่าประโยชน์สุขที่มนุษย์จะได้รับจากความก้าวหน้าทางการแพทย์นั้น มีคุณค่ามากกว่าการหาประโยชน์ใส่ตน ดังที่หมอเฮ้าส์เห็นประโยชน์จากการนำความรู้ใหม่มาใช้กับการรักษาผู้ป่วยในทันที โดยไม่ได้คำนึงว่าตนจะได้ประโยชน์จากการนี้หรือไม่     

ผู้เขียน : นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย