ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก - นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการใช้ข้อมูลทางบัญชีของโรงพยาบาลที่มีการบันทึกต้นทุนจริงโดยมอบหมายให้นักวิชาการทางบัญชีประมาณการค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ (Minimum Operation Cost : MOC) ของโรงพยาบาลในปี 2557 เปรียบเทียบกับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2557 ที่โรงพยาบาลจะได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พบว่า ปี 2557โรงพยาบาลสังกัดสธ.จะมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำสูงกว่างบฯ เหมาจ่าย ราว 8,000 ล้านบาท ดังนั้น สธ.และสปสช.จึงหารือร่วมกันในการแก้ปัญหาให้แก่โรงพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำสูงกว่างบฯ เหมาจ่ายที่ได้รับด้วยการเพิ่มเงินให้โรงพยาบาล เบื้องต้นสปสช.จัดสรรวงเงิน 1,800 ล้านบาทเพื่อใช้ช่วยโรงพยาบาลที่ประสบปัญหา และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) มอบอำนาจให้สธ.ดำเนินการปรับเกลี่ยงบดังกล่าว

นพ.บัญชา กล่าวอีกว่า  วงเงิน 1,800 ล้านบาท จะจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) 1,400 ล้านบาท ที่ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาไม่มีกำไร โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) 400 ล้านบาท เนื่องจากรพศ./รพท.ส่วนใหญ่มีสถานะการเงินที่ดีจึงมีศักยภาพที่จะนำเงินของโรงพยาบาลในส่วนอื่นมาใช้แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ โดยเกณฑ์การจัดสรรจะพิจารณาจากกรอบเอ็มโอซีและประสิทธิภาพการบริหารของโรงพยาบาล อย่างเช่น โรงพยาบาลมีกรอบเอ็มโอซี 600 ล้านบาท แต่พบว่าขาดประสิทธิภาพการบริหาร 200 ล้านบาท ก็จะได้รับจัดสรรเพียง 400 ล้านบาท เป็นต้น

"ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินประสิทธิภาพการบริหารของโรงพยาบาล คาดว่าจะสามารถจัดสรรงบส่วนนี้รอบแรกได้ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 ราว 400 ล้านบาท จากนั้นจะดำเนินการจัดสรรให้เพิ่มเติมเป็นรายไตรมาส เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับเงินบำรุงของโรงพยาบาลทั่วประเทศมีราว 4 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อหักหนี้จะเหลือเพียง 15,000-17,000 ล้านบาท เท่านั้น" นพ.บัญชา กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556