ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การอนามัยโลกและสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคเบาหวานพร้อมกันทั่วโลก และกำหนดคำขวัญในการรณรงค์ในปี 2556 ว่า “พิทักษ์อนาคตไทย พ้นภัยเบาหวาน” (Diabetes : protect our future) เน้นการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่กลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป ให้ตระหนักภัยจากโรคเบาหวาน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อป้องกันการป่วย ทั้งนี้ ในปี 2548 องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคเบาหวานเป็นโรคที่อันตรายเทียบเท่าโรคเอดส์ เนื่องจากแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเบาหวานประมาณ 3.2 ล้านคน ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ราว 3 ล้านคน รายงานล่าสุดขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานกว่า 371 ล้านคน หากไม่มีการดำเนินการใดๆ จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 552 ล้านคนในปี 2573

แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยจากการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ปี 2554 พบคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเสี่ยงป่วยเบาหวานอีก 2.4 ล้านคน สาเหตุที่คนไทยป่วยเป็นเบาหวานกันมาก เนื่องจากบริโภคน้ำตาลสูงถึงคนละ 29.6 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งสูงเกินกว่ามาตรฐานถึง 3 เท่าตัว โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดให้บริโภคน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 6-8 ช้อนชาหรือประมาณ 24 กรัมต่อวัน หรือไม่เกินคนละ 10 กิโลกรัมต่อปี ประการสำคัญยังพบว่ามีคนไทย 17 ล้านคน ดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานจัดอื่นๆ ทุกวัน โดยในน้ำอัดลม 1 กระป๋องขนาดบรรจุ 325 ซีซี. มีปริมาณน้ำตาลทราย 35 กรัม บางครัวเรือนนิยมแช่น้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานจัดอื่นๆ ในตู้เย็นไว้ดื่มแทนน้ำเปล่า เพราะเชื่อว่าดื่มแล้วจะสดชื่นกว่าน้ำเปล่าทั่วไป ซึ่งจะเป็นอันตรายจะเป็นการสร้างค่านิยมติดหวาน เพิ่มความเสี่ยงเป็นเบาหวาน

รายงานผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปีงบประมาณ 2555 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เกี่ยวกับ การคัดกรองผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อกลุ่มโรคเมตาบอลิก พบว่า

การตรวจคัดกรองความเสี่ยง เบื้องต้นในประชากรทุกสิทธิตั้งแต่กลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป เพื่อค้นหาผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มโรคเมตาบอลิก ได้แก่ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ผลการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2555 มีผู้ได้รับการคัดกรองทั้งสิ้น 14,291,135 คน ความครอบคลุมคิดเป็นร้อยละ 37.67 (ของประชากรอายุ 30 ปีขึ้นไป 37.93 ล้านคน)

ในภาพรวม ส่วนใหญ่ พบเป็นโรคความดันโลหิตสูงสุด จำนวน 4,360,699 คน (ร้อยละ 30.51 ของผู้ได้รับการตรวจคัดกรอง) และโรคเบาหวาน จำนวน 1,003,856 คน (ร้อยละ 7.02 ของผู้ได้รับการตรวจคัดกรอง) เมื่อพิจารณารายกลุ่มสิทธิ ผู้มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงพบว่ามีอัตราสูงสุดในสิทธิประกันสังคม ในขณะที่ผู้มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานพบสูงสุดในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ร้อยละ 7.09 และผู้มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง พบมากในสิทธิประกันสังคม ร้อยละ 3.89 รายละเอียด

และข้อมูลจาก สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่า ในปี 2555 ไทยมีผู้ป่วยเบาหวาน 674,826 คน หรือคิดเป็น 1,050.05 คนต่อประชากรแสนคน และในปี 2555 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 7,749 คน หรือ 12.06 คนต่อประชากรแสนคน