ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ในที่สุดการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขก็เดินหน้าต่อไป แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อท้วงติงจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเดินหน้าพัฒนาระบบบริการสุขภาพผ่านรูปแบบการจัดตั้งเขตบริการสุขภาพ 12 เขต ซึ่งรวมพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเป็น 13 เขตบริการสุขภาพ โดยการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เป้าหมายหนึ่งที่สำคัญคือ การใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่าที่สุดภายในพื้นที่เขตบริการสุขภาพนั้นๆ

โดยทรัพยากรที่สำคัญ นอกเหนือจากเครื่องมือแพทย์ ห้องผ่าตัด ยังมีบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) หลายแห่งยังขาดแพทย์เฉพาะทางที่เพียงพอ ส่งผลให้มีการส่งต่อผู้ป่วยจากภูมิภาคมาส่วนกลาง  ทำให้เกิดปัญหาการรอคิวผ่าตัดบ้าง การกระจุกตัวของคนไข้ในเมืองบ้าง ดังนั้น สธ.จึงมีแผนในการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการกระจายทรัพยากรบุคคล แบ่งปันกับโรงพยาบาลอื่นๆ

“จากปัญหาที่ผ่านมาจึงต้องมีการพัฒนาการบริการใหม่ อย่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะต้องทำงานในโรงพยาบาลเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่ ไม่จำกัดว่าอยู่เฉพาะโรงพยาบาลเดียวเป็นประจำ ซึ่งตรงนี้เรารู้ดีว่าทำให้แพทย์มีภาระงานเพิ่ม ก็จะมีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นค่าโอที...”  “นพ.วชิระ เพ็งจันทร์” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)   กล่าวขึ้นเมื่อถูกถามถึงกรณีการกระจายทรัพยกรแพทย์ไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ จะเป็นการเพิ่มภาระงานเฉพาะบุคคลหรือไม่ และจะแก้ปัญหาอย่างไร  ซึ่ง    นพ.วชิระ ย้ำว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างระเบียบการปรับค่าโอทีใหม่ หรือเงินค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลา โดยจะมีการประชุมภายในเดือนพฤศจิกายน และแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ ก่อนจะประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2557 เพื่อเป็นของขวัญให้กับบุคลากรสาธารณสุข

เรื่องนี้ในมุมมองบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องคิดเห็นอย่างไร

 “นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์”  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก หนึ่งในโรงพยาบาลชุมชนสังกัด สธ. เห็นว่า โดยแนวคิดมองว่าต้องการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่โรงพยาบาลในสังกัด เนื่องจากต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีบางพื้นที่ก็ไม่ถูกใช้ประโยชน์หลายเรื่อง อย่างมีห้องผ่าตัดกลับไม่ได้ใช้ ทั้งๆที่ห้องผ่าตัดใช้งบประมาณเป็นล้านๆบาท แต่กลับไม่ใช้ประโยชน์ บ้างก็บอกว่าไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น หากมีการกระจายหมอที่มีความชำนาญในการผ่าตัดโรคต่างๆ มาช่วยโรงพยาบาลเล็กๆ นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรพื้นฐาน อย่างห้องผ่าตัด เครื่องไม้เครื่องมืออย่างคุ้มค่าที่สุดอีก

“ที่ผ่านมาหมอโรงพยาบาลเล็กไม่กล้ารักษาโรคยากๆ หรือการผ่าตัดโรคต่างๆ อย่างการผ่าตัดไส้ติ่งยังไม่กล้า เพราะกลัวโดนฟ้อง กลายเป็นปัญหาที่คนไข้ต้องเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาลตัวเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งตัวคนไข้ก็ไม่มั่นใจหมอโรงพยาบาลเล็กก็มี ดังนั้น หากรัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้ นอกจากจะมาเพิ่มเงินค่าตอบแทนต่างๆ หรือเพิ่มค่าโอทีอะไรก็ตาม ต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนด้วยว่า หมอในโรงพยาบาลเล็กมีศักยภาพเพียงพอ ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกหรือพัฒนาหมอในโรงพยาบาลเล็กๆให้มีความสามารถจริงๆ และเชื่อมั่นในการทำงานของตนเองได้”  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง  ให้ความเห็น

ด้าน “นพ. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ”  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และกรรมการชมรมแพทย์ชนบท เห็นว่า หากจะปรับเพิ่มเรื่องค่าโอที ควรปรับเพิ่มทุกวิชาชีพ ไม่ใช่แค่แพทย์เท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำอีก ที่สำคัญหากกระทรวงสาธารณสุข จะออกระเบียบค่าตอบแทนเงินล่วงเวลาก็ควรเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าหารือถึงเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้ในส่วนโรงพยาบาลชุมชนยังไม่ทราบรายละเอียดเท่าไรนัก

“กังวลว่า การออกระเบียบดังกล่าวจะออกมาเลยโดยไม่มีการหารือ เนื่องจากกระทรวงฯมีอำนาจในการออกประกาศได้ เพราะเงินที่นำมาใช้เป็นค่าโอทีก็เป็นเงินบำรุงของโรงพยาบาลอยู่ดี คือ กระทรวงฯไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงิน ตรงนี้จะเป็นปัญหาอีก ขณะเดียวกันหากเพิ่มเงินเฉพาะแพทย์ อาจทำให้วิชาชีพอื่นที่ทำงานเหมือนกันไม่พอใจ และอาจมีปัญหาการออกมาเคลื่อนไหวอีกก็เป็นได้” นพ.สุภัทร กล่าว

ขณะที่ “พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ” ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) บอกว่า ข้อเท็จจริงโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีการดำเนินการในเขตพื้นที่ของตนเองมาก่อนแล้ว อย่างเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลสุรินทร์ เคยส่งแพทย์ผ่าตัดไปช่วยเหลือโรงพยาบาลอำเภอมาก่อน ซึ่งก็มีการให้ค่าโอทีในส่วนนี้ ดังนั้น การที่กระทรวงฯ มีนโยบายดังกล่าวถือเป็นการทำงานในลักษณะภาพรวม ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ที่สุด

ประเด็นคงต้องรอว่า ระเบียบเงินค่าโอทีจะออกมาในรูปแบบใด