ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"X -RAY สุขภาพ" ในวันนี้ขอเกาะติดกรณีการจัดซื้อ "ยาหัวใจโคลพิโดเกรล" หรือ "ยาละลายลิ่มเลือดรักษาโรคเส้นเลือดอุดตันในหัวใจและสมอง" ซึ่งเป็นยาบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) โดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ซีแอลตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2550 มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดหายาชื่อสามัญให้กับหน่วยบริการ  ยาดังกล่าวเกิดปัญหาขาดแคลนมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2553 ต่อมาเกิดปัญหาครั้งที่ 2 เนื่องจากฝ่ายจัดซื้อ อภ.ได้เสนอผลการจัดซื้อยา 18 ล้านเม็ด จากบริษัทยาอินเดียให้ผู้บริหารอนุมัติตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2555 แต่มีการอนุมัติเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2556 ใช้ระยะเวลาถึง 4 เดือน 28 วัน มีการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2556 กำหนดส่งมอบงวดแรก 16 มิ.ย. 2556 แต่บริษัทไม่สามารถส่งมอบได้ ทำให้ อภ.ต้องแก้ปัญหาด้วยการซื้อยาเร่งด่วน 3 ล้านเม็ด จากบริษัท บ. (ขอสงวนชื่อจริง)

16 ส.ค. 2556  บริษัท บ. เสนอราคายาโคลพิโดเกรล 3 ล้านเม็ด กล่องละ 325 บาท หรือ เม็ดละ 10.83 บาท

22 ส.ค. 2556 อภ.จัดซื้อยา 3 ล้านเม็ดจากบริษัท บ. ในราคากล่องละ 321.60 บาท หรือเม็ดละ 10.72 บาท บริษัทเสนอเงื่อนไขว่าหาก อภ.ซื้อเพิ่มเป็น 6 ล้านเม็ด จะลดราคาเหลือกล่องละ 256.80 บาท หรือเม็ดละ 8.56 บาท

5 ก.ย. 2556  สปสช.มีหนังสือที่ สปสช.3.18.11/00605 แจ้งให้ อภ.จัดหายาโคลพิโดเกรล จากบริษัทภายในประเทศเพิ่มเติมโดยด่วน

13 ก.ย. 2556 บริษัท บ.เสนอราคายาต่อ อภ. 3 ล้านเม็ด ราคากล่องละ 256.80 บาท หรือเม็ดละ 8.56 บาท กำหนดส่งมอบงวดแรก 5 แสนเม็ดภายใน 20 ก.ย. 2556 งวดที่สอง 9 แสนเม็ดภายใน 30 ก.ย. และงวดที่สาม 1.5 ล้านเม็ดภายใน 31 ต.ค. 2556 บริษัทจะทำใบลดหนี้จำนวนเงิน 6.48 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับลดราคาจากกล่องละ 321.60 บาท เหลือ 256.80 บาท จากจำนวนเงิน 32.16 ล้านบาท เหลือ 25.68 ล้านบาท

18 ก.ย. 2556 หัวหน้าแผนงานและจัดซื้อผลิตภัณฑ์ผู้ผลิตอื่นมี บันทึกข้อความขออนุมัติดำเนินการจัดซื้อยาโคลพิโดเกรลอีก 3 ล้านเม็ด เป็นการจัดซื้อเพิ่มเติมจากวันที่ 22 ส.ค. 2556 วงเงิน 25.68 ล้านบาท

30 ก.ย. 2556  อภ.ออกใบเสนอราคาเลขที่ 163Q1404 ถึงเลขาธิการ สสช. เสนอราคายาโคลพิโดเกรล 1 แสนกล่อง (กล่องละ 30 เม็ด) ราคารวมภาษีกล่องละ 270.32 บาท รวมเป็นเงิน 27.032 บาท สปสช.ออกใบสั่งซื้อเลขที่ 140/2556 ถึง ผอ.อภ. แจ้งความประสงค์จะซื้อยาดังกล่าว กำหนดส่งมอบภายใน 30 วัน ครบกำหนดวันที่ 30 ต.ค 2556

แต่ในวันที่ 1 ต.ค. 2556  ยาโคลพิโดเกรลจากบริษัทอินเดียได้เข้ามาแล้ว อภ.ดำเนินการออกของ 53,772 กล่อง วันที่ 4 ต.ค. 2556 ออกของอีก 26,228 กล่อง และวันที่ 10 ต.ค. 2556 ออกของอีก 40,000 กล่อง

8 ต.ค. 2556 เภสัชกรหญิงคนหนึ่งจากงานกองทุนยา เวชภัณฑ์ และวัคซีน ของ สปสช. ได้ส่งอีเมลและโทรศัพท์ยืนยันกับรองเลขาธิการ อภ. และทีมฝ่ายการตลาด ขอให้ อภ.สั่งซื้อยาโคลพิโดเกรล เป็นยาจากบริษัท บ. โดยไม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก สปสช.รับผิดชอบเอง

เนื้อหาระบุว่า "ทำอะไรกันอยู่คะ คำตอบที่ได้รับคือ ยาบริษัทอินเดียเข้าแล้ว เมื่อวันที่ 30 ก.ย. รอตรวจวิเคราะห์ หมายความว่าผลก็ยังไม่ออกทาง อภ.แจ้งว่า เป็นห่วงว่าถ้ารีบซื้อเกินไป สปสช.จะซื้อยาแพงกว่า เป็นความห่วงใยที่ซาบซึ้งมากค่ะ ถ้ามองว่า สปสช.ชะลอซื้ออีกหน่อย เพื่อจะได้ยาที่ถูกนั้น สปสช.เลือกวิธีนี้แสดงว่าคงเอาตัวรอดเพียงคนเดียวแค่นั้น ดูถูกความรู้สึกประชาชนไปหน่อยค่ะ ขอยืนยันว่า อภ.ต้องซื้อยามาชดเชยเป็นการด่วน ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องประหยัดได้ ทาง สปสช.เป็นผู้รับผิดชอบในส่วนนี้เองค่ะ จะไม่มีการยืมยาจากบริษัทอินเดียเข้า มาค่ะ"

11 ต.ค. 255 6 อภ.มีหนังสือที่ สธ.5102/ตร.7/57 ถึงเลขาธิการ สปสช. พร้อมใบเสนอราคาเลขที่ 174Q0087 สำหรับยาโคลพิโดเกรลซึ่งเป็นยาซีแอลจำนวน 30,000 กล่อง รวมภาษีกล่องละ 131.98 บาท มูลค่ารวม 4,038,600 บาท ส่งของได้ในวันที่ 30 ต.ค.เช่นเดียวกับยาของบริษัท บ. เพื่อให้ สปสช.พิจารณา

14 ต.ค. 2556  ฝ่ายประกันคุณภาพ อภ.แจ้งผลการตรวจคุณภาพยาจากอินเดีย พร้อมจำหน่ายแก่ สปสช. ผ่านระบบวีเอ็มไอ 30,000 กล่อง เวลา 15.45 น. นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. พร้อมคณะเข้าพบคณะผู้บริหาร สปสช. เกี่ยวกับแนวทางการจัดหายาและเวชภัณฑ์ปี 2557 ทางผู้บริหาร สปสช.ยืนยันให้ อภ.จัดหายาจากบริษัท บ. 3 ล้านเม็ด โดยจะไม่ยืนยันใบสั่งซื้อกลับไปที่ อภ. ซึ่งให้เหตุผลในการซื้อครั้งนี้ว่า สปสช.ได้แจ้งสถานพยาบาลไปหมดแล้วว่าจะจ่ายยาของบริษัท บ. ซึ่งที่ผ่านมาได้ช่วยบรรเทาปัญหายาขาดจ่ายเป็นอย่างดี

15 ต.ค. 255 6 สปสช.มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 10 ต.ค.2556 ถึง ผอ.อภ. โดยทาง สปสช.ยินดีที่จะใช้ยาโคลพิโดเกรลที่ อภ.จัดหา แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องผ่านการตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อความมั่นใจในคุณภาพและขอให้ อภ.ดำเนินการจัดหายาโคลพิโดเกรลจากบริษัท บ. โดยด่วนที่สุด 3 ล้านเม็ด

16 ต.ค. 2556  อภ.มีหนังสือตอบกลับ สปสช.ชี้แจงว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เคยมีหนังสือลงวันที่ 5 พ.ย. 2555 และ 13 พ.ย. 2555 แจ้ง อภ.ให้ดำเนินการตรวจคุณภาพยาซีแอลทุกรายได้เอง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ายาที่ส่งมาตรวจไม่พบปัญหาเรื่องคุณภาพ และเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยที่จะสามารถได้รับยาเร็วขึ้น อภ.จึงขอให้ สปสช.แจ้งยืนยันการสั่งซื้อและการดำเนินการในช่วงที่ อภ.ยังไม่ได้รับการยืนยันใบสั่งซื้อ ทั้งนี้ อภ.ยินดีดำเนินการตามประสงค์ของผู้ซื้อต่อไป

"เดลินิวส์" ได้นำเสนอข่าวในหน้า 3 ฉบับวันที่ 18 ต.ค. 2556 พาดหัวว่า  "อภ.มึนสปสช.สั่งยาหัวใจอีก 3 ล้านเม็ด" โดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงจาก อภ. แต่ทางผู้บริหาร สปสช.ออกมาตอบโต้ว่า ถูก อภ.โยนบาปซื้อยาหัวใจแพง

วันที่ 21 ต.ค. 2556 นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ให้สัมภาษณ์ "เดลินิวส์" ยืนยันยกเลิกการซื้อยาหัวใจ 3 ล้านเม็ดจากบริษัท บ. และได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 25 ต.ค.2556 ถึง ผอ.อภ. เรื่องขอแจ้งการจัดหายาโคลพิโดเกรล ในความสรุปว่า "ตามที่ อภ.อ้างหนังสือจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งยอมรับผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาจาก อภ.ในปี 2555 ทั้งที่ สปสช.เสนอเงื่อนไขไปว่ายาดังกล่าวต้องผ่านการตรวจคุณภาพโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อนกระจายยาให้กับหน่วยบริหาร เนื่องจากเมื่อปี 2553 พบปัญหาคุณภาพยาจนต้องเรียกคืนยาออกจากระบบ ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในตัวยาดังกล่าวและปัญหายาขาดแคลน ในครั้งนี้ สังคมภายนอกได้รับรู้ว่าบริษัทผู้ผลิตมีปัญหาในการผลิต จึง จำเป็นต้องมีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาโดยหน่วยงานภายนอก หาก อภ.มั่นใจในระบบการตรวจสอบคุณภาพยาดังกล่าวและสามารถรับผิดชอบปัญหาในอนาคต สปสช.ยินดีที่จะซื้อยาที่ อภ.จัดหาตามจำนวนที่แจ้งไป ก่อนหน้านี้"

จากคำให้สัมภาษณ์และหนังสือจากเลขาธิการ สปสช.เรื่องน่าจะจบ แต่ปรากฏว่า ผอ.ฝ่ายขายของบริษัท บ. ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง อภ. ลงวันที่ 30 ต.ค.2556 ระบุว่า "ตามที่ สปสช.มีความประสงค์จัดซื้อยาโคลพิโดเกรลสำหรับโครงการวีเอ็มไอ ผ่าน อภ. 3 ล้านเม็ด และมีการเปิดซองในวันที่ 19 ส.ค.2556 โดยทางบริษัทชนะการเสนอราคา และทางคณะกรรมการได้ต่อรองราคาว่าจะมีการจัดซื้อเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ดรวมเป็น 6 ล้านเม็ด บริษัทได้ปรับลดราคาจากเดิมเม็ดละ 10.83 บาท เหลือเม็ดละ 8.56 บาท ทางบริษัทซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายได้ติดต่อบริษัทในประเทศแคนาดา เพื่อจัดส่งยาจำนวน 6 ล้านเม็ดโดยทางบริษัทได้เสนอราคาในวันที่ 13 ก.ย.2556 บริษัทได้ส่งมอบยาจำนวน 3 ล้านเม็ดให้ อภ.เรียบร้อยแล้ว ยังคงเหลืออีก 3 ล้านเม็ดที่ติดสติกเกอร์ สปสช. Access Program ซึ่งทางบริษัทต้องลงทุนในยาจำนวนนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายของ สปสช.ให้มียาคุณภาพส่งมอบให้ผู้ป่วย ที่ผ่านมา อภ.ได้จัดซื้อยาโคลพิโดเกรล 1 ล้านเม็ด โดยมิได้จำหน่ายถึง 2 ปี ทำให้ยาใกล้หมดอายุและนำกลับมาคืนให้บริษัทรับผิดชอบในการทำลายทิ้ง และเปลี่ยนเป็นยาใหม่ในวงเงิน 12 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทขอเรียนถามถึงกำหนดส่งมอบยาจำนวนที่เหลือ 3 ล้านเม็ด จึงเสนอเรื่องให้พิจารณาและแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น"

วันที่ 4 พ.ย. 2556 สปสช.ได้ทำหนังสือถึง ผอ.อภ. ขอให้เสนอราคายาโคลพิโดเกรลสำหรับปีงบประมาณ 2557 ดังนี้ 1.ให้ อภ.ยกเลิกใบเสนอราคายาของบริษัทอินเดียลงวันที่ 11 ต.ค. 2556 จำนวน 3 ล้านเม็ด 2.ดำเนินการเสนอราคายาใหม่สำหรับปีงบประมาณ 2557 จำนวน 20 ล้านเม็ด รวมยอดค้าง 3 ล้านเม็ดจากปีงบประมาณ 2556 เป็น 23 ล้านเม็ด 3.ในระหว่างการจัดซื้อยา สปสช.ขอยืมยาจำนวน 5 ล้านเม็ดเข้าคลัง สปสช.ก่อนเพื่อกระจายยาให้เพียงพอกับความต้องการ

คำถาม คือ 1. ทำไมบริษัท บ.อ้างว่าคณะกรรมการได้ต่อรองราคาว่าจะมีการจัดซื้อเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ด คณะกรรมการที่ไปตกลงมีใครบ้าง ไปตกลงอย่างไร 2. ทำไม สปสช.ไม่ยอมออกใบสั่งซื้อยาจาก อภ. แต่ใช้วิธีขอยืมแทน 3. ในอดีต อภ.เคยให้ สปสช.ยืมยาหรือเวชภัณฑ์มาแล้วกี่รายการ มีค้างชำระอยู่หรือไม่ เพราะอะไร ได้ยินมาว่ามีการยืมน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้อง 2 ล้านถุง มูลค่า 250 ล้านบาท ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทั้งนี้อยากให้ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. และ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่าง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2556