ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในสิ้นปี 2556 นี้ จะถือเป็นปีแรกที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพทั้ง 2 แบบ ประกอบด้วย 1.จ่ายเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ หรือจ่ายเงินก้อนเดียวให้แก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สำหรับสมาชิกที่ส่งเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน หรือ 15 ปี ที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ และ 2.จ่ายเป็นเงินบำนาญชราภาพ ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ สำหรับสมาชิกที่ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จากเดิมที่จ่ายเฉพาะเงินบำเหน็จ เนื่องจากปีที่ผ่านๆ มายังไม่มีใครที่ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี ตามที่ สปส.กำหนดไว้

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการ สปส. กระทรวงแรงงาน บอกว่า จากการคาดการณ์ของ สปส.นั้น คาดว่าจะมีผู้ประกันตนที่มีอายุเกิน 55 ปี ที่ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพกว่า 130,000 คน โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 70 จะรับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ และอีกร้อยละ 30 จะรับเป็นเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งคาดว่าจะต้องจ่ายเงินกองทุนประกันสังคมออกไปทั้งหมดกว่า 8,000 ล้านบาท โดยหากผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน หรือ 5 ปี นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้เงินบำนาญชราภาพตกเป็นของลูกหลานผู้ประกันตนโดยจะได้รับในรูปแบบของเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

สำหรับการคำนวณเงินออมกรณีชราภาพนั้น แยกได้ 3 รูปแบบ คือ

1.กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เป็นเงินก้อนเท่ากับเงินสมทบส่วนที่ได้สมทบจริง เช่น หากเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งส่งสมทบเดือนละ 450 บาท ส่งสมทบไป 10 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ จำนวน 450x10 = 4,500 บาท

2.กรณีส่งเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปแต่ไม่เกิน 15 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวนเท่ากับเงินสมทบส่วนที่ลูกจ้างส่งและนายจ้างสมทบกลับคืนไปบวกดอกผลจากการลงทุนของ สปส.ในช่วงเวลาที่ลูกจ้างส่งเงินสมทบเข้ากองทุนตามที่ สปส.กำหนด ตัวอย่างเช่น กรณีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งส่งสมทบเดือนละ 450 บาท และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนกรณีชราภาพ 10 ปี จะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ จำนวน 450x2 (ส่วนที่นายจ้างสมทบ) x 12 เดือน x 10 ปี คิดเป็นเงินประมาณ 108,000 บาทบวกดอกผลจากการลงทุนของ สปส.

3.กรณีส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี จะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ จ่ายเป็นรายเดือนและได้รับไปตลอดชีวิต โดยเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับหากคำนวณตามสูตรจะเท่ากับร้อยละ 20 ของเงินเฉลี่ย 60 เดือน หรือ 5 ปีสุดท้ายของการทำงาน และทุกๆ 12 เดือนที่สมทบเพิ่ม (คือนับตั้งแต่ปีที่ 16 เป็นต้นไป) จะได้รับโบนัสในส่วนเพิ่มเท่ากับร้อยละ 1.5 ของเงินเดือนเฉลี่ย โดยที่ สปส.ได้กำหนดเกณฑ์ให้ผู้ที่มีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป คำนวณเงินบำนาญชราภาพโดยใช้ฐานเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย อยู่ที่ 15,000 บาท เท่านั้น แม้ผู้ประกันตนมีเงินเดือน 20,000 บาท หรือ 30,000 บาท หรือ 40,000 บาท สปส.ก็ยึดฐานเงินเดือนดังกล่าวมาใช้ในการคำนวณ ตัวอย่างเช่น กรณีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งส่งสมทบเดือนละ 450 บาท และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนกรณีชราภาพ 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ จำนวน 15,000 x ร้อยละ 20 = 3,000 บาทต่อเดือน หรือหากส่งเงินสมทบ 30 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ จำนวน (15,000 x ร้อยละ 20) + (15,000 x 15 ปี ที่ส่งเงินสมทบเพิ่ม x ร้อยละ 1.5) = 3,000 บวก 3,375 เท่ากับ 6,375 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ จากการคำนวณอย่างคร่าวๆ พบว่าผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 9,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละประมาณ 1,800 บาท เงินเดือน 10,000 บาท ได้รับเดือนละประมาณ 2,000 บาท เงินเดือน 12,000 บาท ได้รับเดือนละประมาณ 2,400 บาทและเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ได้รับเดือนละประมาณ 3,000 บาท ซึ่งผู้ประกันตนแต่ละคนอาจจะได้รับเงินบำนาญชราภาพไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ และค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุการทำงาน

รองเลขาธิการ สปส.บอกว่า ขณะนี้ สปส.ได้ทยอยส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม โดยแจ้งรายละเอียดทั้งจำนวนเงินที่ส่งสมทบเข้ากองทุน ประเภทของสิทธิประโยชน์ชราภาพที่มีสิทธิได้รับ แต่หากผู้ประกันตนรายใดต้องการจะทำงานต่อ ยังไม่ไปขอรับสิทธิประโยชน์ก็สามารถทำได้ โดยต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมต่อไปได้เรื่อยๆ จนถึงอายุ 60 ปี โดยผู้ประกันตนที่ต้องการรับเงินสิทธิประโยชน์ ให้นำบัตรประชาชนไปแสดงเพื่อรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ โดยให้ไปยื่นขอรับสิทธิได้ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ใกล้บ้าน

"ขอให้ผู้ประกันตนทุกคนที่มีสิทธิรับเงินสิทธิประโยชน์ชราภาพและต้องการรับเงินสิทธิประโยชน์ ไปยื่นเรื่องขอรับสิทธิได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557" นพ.สุรเดชกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินดังกล่าวอาจมีความล่าช้าไปบ้าง เนื่องจาก สปส.ต้องใช้เวลากว่า 2 เดือน ในการรอนายจ้างจ่ายเงินสมทบงวดสุดท้าย และคำนวณเงินสิทธิประโยชน์พร้อมผลตอบแทนที่ได้จากการนำเงินผู้ประกันตนไปลงทุน ก่อนจึงจะสามารถโอนเงินให้ผู้ประกันตนได้

นอกจากนี้ หากผู้ประกันตนมีปัญหากรณีนายจ้างเก็บเงินสมทบไปแล้วไม่ยอมนำส่งเงินสมทบให้ สปส.หรือนายจ้างจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างไม่ครบ ให้ผู้ประกันตนนำหลักฐานไปยืนยันกับ สปส. เช่น สลิปเงินเดือน กระนั้นหากไม่มีหลักฐานเมื่อไปแจ้งเรื่อง สปส.ก็จะตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นจริงหรือไม่ หากจริงก็จะจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพแก่ผู้ประกันตนตามสิทธิที่ได้รับอย่างครบถ้วน

ดังนั้น เรื่องนี้ "ผู้ประกันตน" สบายใจได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 พฤศจิกายน 2556