ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - ศ.นพ.วันชัย วนะชิวนาวิน นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย แถลงข่าว "โครงการพัฒนาบริบาลแบบประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็งเด็ก" เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ร้อยละ 80 ของโรคมะเร็งเด็กเป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยา ทางสมาคมโลหิตวิทยาฯจึงร่วมกับชมรมมะเร็งเด็กแห่งประเทศไทย ส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเด็กให้ครอบคลุมทั้งด้านกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ เพื่อให้เด็กเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ก็ตาม ด้วยการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการมายชายล์ดแมทเทอรส์ (My Child Matters) เป็นระยะเวลา 3 ปี

รศ.นพ.ปัญญา เสกสรรค์ ประธานชมรมมะเร็งเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่ามะเร็งเด็กจะพบเพียงส่วนน้อยของโรคมะเร็งที่พบในประชากรทั้งหมด แต่เมื่อเกิดขึ้นในครอบครัวใด ย่อมส่งผลกระทบทั้งต่อตัวเด็กและสมาชิกในครอบครัว ในแต่ละปีพบผู้ป่วยเด็กรายใหม่ในประเทศไทยประมาณ 1,000 ราย โดยพบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือ ลูคีเมียมากที่สุด ซึ่งส่วนมากสามารถรักษาให้หายได้ในอัตราร้อยละ 60-70 และมีเด็กจำนวน หนึ่งที่ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบองค์รวมในทุกด้าน การบริบาลแบบประคับประคองจึงเป็นการรักษาที่มุ่งเน้นการบรรเทาและช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถรับมือกับความทุกข์จากการเจ็บป่วย ทางชมรมฯและเครือข่ายจึงได้จัดทำร่างโครงการพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเด็ก โดยในระยะ 3 ปี มีแผนที่จะพัฒนาสื่อการสอนเพื่ออบรมกุมารแพทย์และพยาบาล รวมทั้งจัดทำคู่มือเป็นสื่อความรู้ให้แก่ครอบครัวของผู้ป่วย และจะร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยเพื่อใช้พัฒนาระบบเบิกจ่ายต่อไป ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นต้นแบบแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการบริบาลแบบประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็งเด็ก เป็นหนึ่งในโครงการมายชายล์ดแมทเทอรส์ เกิดจากความร่วมมือระหว่างยูไอซีซี (Union for International Cancer Control) องค์กรอิสระระหว่างประเทศที่ทำงานอุทิศด้านการควบคุมมะเร็ง และมูลนิธิ ซาโนฟี่เอสปัวร์ ที่ให้ทุนสนับสนุนต่อเนื่อง 3 ปี รวมเป็นเงิน 8,500,000 บาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง