ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยโพสต์ - กรมการแพทย์จับมือภาคีเครือข่ายต้านใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็น ระบุรัฐสูญเสียเงินกว่า หมื่นล้านบาท ซื้อยาปฏิชีวนะ พร้อมชี้ 3  แนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล และการป้องกันและควบคุมปัญหาการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลถือเป็นนโยบายที่สำคัญประการหนึ่งของกรมการเพทย์การวางแผนป้องกันและควบคุมการติดเชื้อดื้อยาเป็นผลพวงหลักจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินความจำเป็นและไม่ถูกต้อง ทั้งในและนอกโรงพยาบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้กรมการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดปัญหาการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล รวมถึงการเฝ้าระวังโรคการติดเชื้อในโรงพยาบาลในฐานะองค์กรสุขภาพระดับชาติ  (National Health Authority) ที่ผ่านมากรมการแพทย์ได้มุ่งเน้นให้สถานพยาบาลในสังกัดควบคุมปริมาณการจ่ายยาปฏิชีวนะให้เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนและสอดรับกับนโยบาย ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้กำหนดให้วันที่ 18 พฤศจิกายน ทุกปี เป็นวันแห่งการรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่าสมเหตุสมผล สำหรับปีนี้นับว่าเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีการจัดรณรงค์ร่วมกับนานาประเทศพร้อมกันทั่วโลก

แพทย์หญิงศรีศุภลักษณ์ สิงคาลวณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้าน AEC สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่มีบทบาทในการดูแลสุขภาพเด็กไทยทั่วประเทศ จึงให้ความสำคัญกับการใช้ยาปฏิชีวนะในเด็กอย่างสมเหตุสมผล โดยได้ทำการสำรวจวิจัยและติดตามประเมินผลผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการรักษาอาการไข้หวัดและเจ็บคอซึ่งได้รักษาตามอาการโดยไม่จ่ายยาปฏิชีวนะให้แก่ผู้ป่วยเด็ก พบว่า ผู้ป่วยเด็กร้อยละ 91.5 มีอาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ ร้อยละ 98.5 และต้องการจะกลับมารับบริการอีกในครั้งต่อไปแสดงให้เห็นว่าหากมีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว จะส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กไทย

เภสัชกรหญิง ดร.ดวงทิพย์ หงษ์สมุทร ผู้เชี่ยวชาญกองทุนยาเวชภัณฑ์และวัคซีนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่สรรหาและซื้อบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนจำนวน 47 ล้านคน เล็งเห็นถึงปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในสังคมไทย ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณในการดูแลสุขภาพประชาชน รวมถึงการสั่งซื้อยาจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย สปสช.จึงนำเอาแนวปฏิบัติโครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล มาเป็นแนวทางในการกำหนดเกณฑ์การลดใช้ยาปฏิชีวนะในสถานพยาบาลสอดรับนโยบายรัฐในการลดค่าใช้จ่ายประเทศ และเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 600 แห่ง ทั่วประเทศ มีการดำเนินโครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ซึ่งในปีงบประมาณ 2556 ได้เปลี่ยนวิธีการประเมินจากเดิมที่เป็นการประเมินเชิงกระบวนการมาเป็นการประเมินเชิงผลลัพธ์ โดยจ่ายรางวัลตอบแทนเต็มที่แก่โรงพยาบาลที่มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่นวบน เช่น โรคไข้หวัด เจ็บคอ และท้องร่วมเฉียบพลันไม่เกินร้อยละ 20 และรางวัลนี้ จะลดหลั่นลงมาตามการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากขึ้น โดยโรงพยาบาลที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่าร้อยละ 40 จะได้รางวัลจาก สปสช.

ผศ.เภสัชกรหญิง ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพบว่าปี 2552 มูลค่าการผลิตและนำเข้าของกลุ่มยาฆ่าเชื้อและยาปฏิชีวนะ มีค่าประมาณ 22,900 ล้านบาท โดยยาปฏิชีวนะคิดเป็นมูลค่า 10,940 ล้านบาท สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากการใช้ยาอย่างไม่สามเหตุผลซึ่งเกิดจากบุคลากรทางการแพทย์  เช่น แพทย์ เภสัชกรที่สั่งใช้ยาไม่เหมาะสม และจากภาพประชาชนเองซึ่งมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในบางประเด็นที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง เช่น การซื้อยาใช้เอง การร้องขอยาจากแพทย์ การใช้ยาผิดข้อบ่งชี้ ทำให้เกิดวิกฤติปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมปัญหาการดื้อยาจึงควรปฏิบัติตามมาตรการ 3 ข้อดังนี้ 1.ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีจำเป็นเท่านั้น 2.ควรกินยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่แพทย์สั่งหากหยุดกินเองเชื้อแบคทีเรียจะปรับตัวให้คงทนต่อยามากขึ้นและกลายเป็นเชื้อดื้อยาในที่สุด 3.การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ยาแรงเกินไป เพื่อมุ่งให้หายจากอาการป่วยโดยเร็ว ซึ่งหากใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์แรงในการรักษาเริ่มแรกทันที เมื่อเกิดการดื้อยาขึ้นจะทำให้ไม่มียาขนานต่อไปเพื่อใใช้ในการรักษา ฉะนั้น การแก้ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินจำเป็นต้องดำเนินการในทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของโรงพยาบาล ร้านยา และภาคประชาชนจึงจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนและยั่งยืน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556