ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดลินิวส์ - ในยุคที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน ประชาชนหันมาสนใจเหตุบ้านการเมืองกันอย่างล้นหลาม ต่างคนก็พยายามแสดงออกทางความคิดตามสิทธิของตน การชุมนุมของคนหลากหลายกลุ่มต่างความคิดจึงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ

โดยเฉพาะในขณะนี้กรุงเทพมหานครเมืองที่เต็มไปด้วยม็อบกลุ่มต่าง ๆ ทั้งม็อบนกหวีดที่ถนนราชดำเนิน ม็อบ คปท.ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ม็อบกองทัพธรรมที่แยกผ่านฟ้าลีลาศ จากการลงพื้นที่ชุมนุมจะเห็นได้ว่าความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้ชุมนุม จะมีทั้งผู้ชุมนุมที่มาฟังการปราศรัยในช่วงเย็น และกลุ่มผู้ชุมนุมค้างคืนที่จะมาจากต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องกินนอนกันริมถนน ห้องน้ำสาธารณะก็มีไม่เพียงพอต่อปริมาณผู้ชุมนุม บ้างก็มีการปลดทุกข์กันข้างทาง ทำให้ส่งกลิ่นเหม็น เกิดความสกปรก ไม่ถูกสุขอนามัย อีกทั้งในพื้นที่ในการชุมนุมที่ไม่ได้รับการทำความสะอาดเป็นเวลานาน สิ่งเหล่านี้เมื่อรวมกันก็กลายเป็นงานปาร์ตี้ของเหล่าเชื้อโรค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้มากมาย

หน้าที่กรุงเทพมหานคร นอกจากการช่วยดูแลด้านความปลอดภัย และลดผลกระทบจากการชุมนุมแล้ว การดูแลสุขภาพร่างกายของประชาชนก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญ และด้วยความเป็นห่วงเป็นใยต่อสุขภาพของประชาชน ทางสำนักอนามัยกรุงเทพมหานครโดย พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนัก และเจ้าหน้าที่จึงได้สำรวจรวบรวมโรคภัยที่อาจแฝงตัวมากกับการชุมนุม โดยโรคที่เกิดขึ้นจะแบ่งได้หลัก ๆ คือโรคที่เกิดขึ้นทางร่างกายและโรคที่เกิดขึ้นทางจิตใจ ซึ่งจะแบ่งโรคเสี่ยงที่อาจเกิดจากการอยู่ในพื้นที่ชุมนุมเป็นเวลานาน ออกเป็น 8 โรค ดังนี้

1. โรคที่เกิดจากอาหารและน้ำ เนื่องจากอาหารและน้ำ ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการชุมนุม แต่ในพื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ที่จำกัดและมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมกันมากมาย จึงต้องมีการตั้งครัวริมถนนขึ้น ซึ่งอาจมีการปรุงเก็บไว้นานหลายชั่งโมง หรืออาจขนส่งมาจากพื้นที่อื่น ทำให้อาหารไม่สุกใหม่ และอาจเกิดอาการท้องร่วงเมื่อรับประทานเข้าไปได้ ประกอบกับเรื่องห้องน้ำที่ส่วนใหญ่ใช้ร่วมกันบนรถสุขาที่ กทม.จัดเตรียมเอาไว้ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคดังกล่าวได้ง่ายขึ้นด้วย ไม่สามารถมั่นใจถึงเรื่องความสะอาดได้ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด อีกทั้งน้ำดื่มที่แจกกันในที่ชุมนุมก็มีทั้งน้ำบรรจุขวดและน้ำดื่มในคูเลอร์ซึ่งน้ำเหล่านี้ง่ายต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค ดังนั้นอาการอาหารเป็นพิษ จึงเป็นโรคที่เกิดได้ง่ายมากในการชุมนุม ผู้ชุมนุมควรระมัดระวังในการรับประทานอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ส่วนน้ำดื่มก็ควรเป็นน้ำสะอาดบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน

2. โรคติดต่อทางการหายใจ อาทิ โรคหวัด วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในพื้นที่ที่รวบรวมคนไว้จำนวนมาก การเกิดโรคติดต่อทางการหายใจจึงเป็นไปได้ง่าย ยิ่งกับผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก คนชรา หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันไว้ในเบื้องต้น เพราะหากได้รับเชื้อแล้ว การรักษาอาจทำได้ยากกว่าการป้องกันมากนัก

3. โรคเครียด ซึ่งความวิตกกังวลและโรคเครียดเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะประชาชนที่มาเข้าร่วมการชุมนุม ซึ่งเป็นผู้ได้รับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา จึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้ โดยความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลทำให้ระบบร่างกายเกิดความปั่นป่วนได้ อาทิ เกิดโรคเครียดลงกระเพาะ โรคความดันและโรคหัวใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาวะเครียดที่รุนแรง อย่างไรก็ตามวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมคือการพยายามผ่อนคลายตนเอง ไม่ยึดติดกับสิ่งหนึ่งมากเกินไป

4. โรคไข้เลือดออก ในพื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อโรคดังกล่าวเนื่องจากเป็นที่เปิดกว้าง มีท่อระบายน้ำ และมีการหมักหมมของเศษอาหารสิ่งสกปรกต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นบ่อเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ผู้ชุมนุมอาจได้รับเชื้อไข้เลือดออกจากการถูกยุงกัดได้ ซึ่งคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ล้วนเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อทั้งสิ้น การป้องกันเบื้องต้นคือประชาชนต้องพยายามอย่าให้ยุงกัด อาจป้องกันด้วยการทาโลชั่นกันยุง หรือหายากันยุงจุดป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องค้างคืนริมถนน ควรป้องกันดูแลเป็นพิเศษ

5. โรคหู เนื่องจากอุปกรณ์การชุมนุมที่สำคัญในยุคสมัยนี้ ต่างก็มีทั้งนกหวีด แตร ฉาบ ซึ่งล้วนแต่มีเสียงดังและอาจเป็นอันตรายต่อระบบประสาทหูได้ โดยปกติเสียงที่จะเป็นอันตรายต่อประสาทหูต้องมีความดังเกิน 80 เดซิเบล สำหรับกลุ่มม็อบนกหวีดก็ไม่ได้มีการวัดค่าที่แน่นอนว่าอยู่ในระดับใด แต่หากประชาชนอยู่ในที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานานก็จะส่งผลให้ประสาทหูอักเสบได้ชั่วคราว การป้องกันที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงแต่หากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรใช้อุปกรณ์อุดหูเพื่อป้องกัน

6. โรคผิวหนัง เป็นอีกโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นได้เนื่องจากผู้ชุมนุมที่ค้างคืนริมถนน ด้วยความจำกัดของห้องน้ำ ทำให้การชำระทำความสะอาดร่างกายอาจเป็นสิ่งที่ยากลำบาก อีกทั้งด้วยสภาพอากาศของไทยที่มี

 ความร้อนอบอ้าว โรคผิวหนังผื่นคันจึงอาจเกิดขึ้นได้ วิธีการดูแลป้องกันตนเองที่ดีที่สุดคือการพยายามดูแลรักษาความสะอาดในร่างกายตนเองอย่างสม่ำเสมอ พยายามชำระล้างร่างกายเป็นประจำ หากเกิดผื่นคันพยายามรีบรักษาอย่าปล่อยให้ลุกลามไปยังที่อื่น ๆ

7. โรคประจำตัวของผู้ชุมนุม การชุมนุมเป็นการรวมตัวของผู้คนจากหลากหลายพื้นที่ และแต่ละคนต่างก็มีสุขภาพร่างกายแตกต่างกัน การเข้าร่วมการชุมนุมอาจทำให้ประชาชนละเลยการดูแลตนเองจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ ทางที่ดีที่สุดคือผู้ชุมนุมต้องไม่ลืมศักยภาพตัวเอง กระทำสิ่งต่าง ๆ ตามแต่ศักยภาพที่ตนมี ไม่ฝืนสังขารของตัวเอง และไม่ลืมดูแลตัวเอง คนที่มีโรคประจำตัวก็ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ยิ่งกลุ่มที่เป็นโรคหัวใจ ความดัน การชุมนุมอาจยิ่งสร้างความ เครียดจึงต้องระมัดระวังร่างกายอย่างมาก

8. โรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากมีรายงานว่าในที่ชุมนุมมีผู้ชุมนุมถูกสุนัขจรจัดกัด ซึ่งไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสุนัขแต่ละตัวมีเชื้อพิษสุนัขบ้าบ้างหรือไม่ ดังนั้น ประชาชนควรรู้จักดูแลป้องกันตัวเอง หากถูกสุนัขกัดควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ที่แผลหลาย ๆ ครั้ง และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรค

การชุมนุมถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนสามารถชุมนุมได้แต่ก็ควรเตรียมตัวเองให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น สุขภาพร่างกายถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราคงต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ความรักชาติ รักอุดมการณ์เป็นสิ่งที่ถูกต้องถ้าอยู่บนพื้นฐานของความพอเหมาะพอควร และสำคัญที่สุดคือต้องไม่ลืมรักและดูแลตัวเอง.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th