ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พยาบาลกว่าพันชีวิตรวมพลหน้ากระทรวงหมอ เรียกร้องให้ สธ.เดินหน้าจ่ายค่าตอบแทนทุกวิชาชีพอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ฮึ่ม! แพทย์ชนบทเห็นแก่ตัวขอให้ได้ค่าตอบแทนก่อนแถมได้เท่าเดิม ยันรับไม่ได้ให้วิชาชีพที่รายได้น้อยกว่าเสียสละ เพราะเป็นทีมสุขภาพด้วยกัน ลั่นแม้กินแหนงแคลงใจแต่ไม่กระทบการดูแลผู้ป่วยแน่

astvผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า วันนี้ (25 พ.ย.) กลุ่มพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 1 พันคน นำโดย นางกรรณิกา ปัญญาอมรวัฒน์ รพ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี และนางจงกล อินทสาร ประธานชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ได้มารวมตัวกันที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงเจตนารมณ์และสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินหน้าปรับการจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายอย่างเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงทวงถามความคืบหน้าเรื่องการบรรจุพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ ระหว่างจะเริ่มการประชุมค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทุกกลุ่มวิชาชีพที่มี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เป็นประธาน โดย นพ.ณรงค์ ได้ลงมารับหนังสือข้อเรียกร้องของกลุ่มพยาบาล
       
นางจงกล กล่าวว่า ชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนและสภาการพยาบาล มีความตั้งใจที่จะดำเนินการให้มีการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ เพราะเป็นทีมสุขภาพด้วยกัน แต่การประชุมเพื่อตัดสินใจเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนในครั้งนี้ มีบางกลุ่มต้องการให้วิชาชีพของแพทย์ได้ก่อน โดยให้วิชาชีพอื่นเสียสละ ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ว่า เพราะเหตุใดต้องให้คนที่มีรายได้น้อยเสียสละให้คนที่มีรายได้มากกว่า และมีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการทำงานร่วมกันแต่ละวันเรามีค่าตอบแทนต่างกันถึง 27 เท่า จะเป็นไปได้อย่างไร และไม่มีประเทศใดในโลกที่ทำ
       
"วันนี้เรามาขอให้ปลัด สธ. และ รมว.สาธารณสุข ทบทวนว่าการจ่ายค่าตอบแทนให้กลุ่มวิชาชีพไหนก็แล้วแต่ ควรมองความเป็นธรรมและลดช่องว่างระหว่างวิชาชีพตรงนี้ออกไป เราเข้าใจว่าไม่สามารถทำให้ค่าตอบแทนเท่ากันได้ แต่อยากให้พิจารณาแล้วมีความคิดเห็นร่วมของทุกวิชาชีพว่าจะอยู่ร่วมกันทำงานอย่างมีความสุข โดยยึดผู้ป่วยหรือประชาชนเป็นหลัก คนที่ทำงานหนักก็ควรได้รับค่าตอบแทนที่พออยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุขและมีคุณค่าบ้าง" นางจงกล กล่าว
       
นางจงกล กล่าวอีกว่า การลดความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าตอบแทน เราตั้งข้อเสนอมาหลายปีตั้งแต่การออกประกาศค่าตอบแทนฉบับ 4 แต่สุดท้ายยังไม่มีการจัดการ จนเมื่อ มี.ค. 2556 สธ.เตรียมประกาศใช้หลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับ 8 และ 9 แม้ทั้งสองฉบับจะยังไม่ช่วยลดช่องว่างระหว่างวิชาชีพ แต่เราพร้อมเดินหน้าเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะเมื่อทำไปแล้วระยะหนึ่งก็สามารถทบทวนปรับปรุงเพื่อสร้างความเปผ็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่มีบางวิชาชีพที่ไม่ยอมทำ ต้องการได้ค่าตอบแทนแบบเดิมโดยไม่ทำอะไร จนนำไปสู่การทบทวนของ สธ. โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทบทวน 3 ชุด โดยชุดแรกจะพิจารณาเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงค่าตอบแทนฉบับ 8 ชุดที่ 2 พิจารณาเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ซึ่งมีการเปิดโอกาสให้ทีมคณะทำงานได้หารือกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ P4P แบบเดิม หรือ PQO ที่บางกลุ่มบอกว่าจะสะท้อนคุณภาพงานได้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมคิดร่วมทำ เพื่อเดินหน้าฉบับ 9 ร่วมกัน และชุดสุดท้ายพิจารณาช่องว่างฉบับ 8 และ 9 ว่ามีเนื้อหาสาระอะไรควรปรับปรุงเพื่อให้ทุกวิชาชีพพึงพอใจร่วมกัน
       
นางจงกล กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการพูดคุยร่วมกันในสหวิชาชีพ แต่ขาดกลุ่มแพทย์ชนบท ซึ่งทุกวิชาชีพทุกคณะลงความเห็นว่า ทุกวิชาชีพควรจะเดินไปด้วยกัน แต่วันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มแพทย์ชนบทขอให้ออกหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับ 10 เพื่อแพทย์ได้ค่าตอบแทนเช่นเดิมเหมือนฉบับ 4 และ 6 ก่อน เพราะฉบับ 8 ทำให้ได้ค่าตอบแทนลดลง แต่จะได้เพิ่มจากฉบับ 9 หากทำงานได้ตามปริมาณหรือคุณภาพที่ทำ โดยให้วิชาชีพอื่นเสียสละเพื่อเขา ซึ่งมองว่าไม่ถูกต้อง ทุกคนเป็นทีมสุขภาพด้วยกันควรมีข้อหารือทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อออกเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันให้ได้ มิเช่นั้นประชาชนจะรู้สึกอย่างไรถ้าเราต้องมาทะเลาะกันอยู่เรื่อยๆ เวทีวันนี้จึงเป็นเวทีที่เราดีใจที่ สธ.เชิญทุกวิชาชีพเข้าร่วมหารือ ซึ่งคาดหวังว่าจะได้คำตอบสุดท้ายเสียที เพื่อจะเดินหน้าการทำงานต่อ
       
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกลุ่มแพทย์ชนบทยืนยันที่จะต้องออกหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับ 10 เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนก่อนกลุ่มอื่น จะมีปัญหาในการทำงานร่วมกันหรือไม่ นางจงกล กล่าวว่า ส่วนตัวเราดูแลผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ความกินแหนงแคลงใจระหว่างคนเราคงมี แต่เรามีจรรยาบรรณในการดูแลคนไข้ เพราะทุกวิชาชีพไม่ใช่เฉพาะพยาบาลจะไม่ทิ้งประชาชน เพราะประชาชนคือหัวใจของเรา
       
ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวภายหลังรับหนังสือจากกลุ่มพยาบาล ว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจะทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของทุกวิชาชีพ เพราะ สธ.มีหน้าที่ต้องดูแลทุกวิชาชีพให้ไปด้วยกันได้ แม้การออกฉบับ 8 และ 9 อาจทำให้มีความเห็นไม่ตรงกัน หรือไม่พอใจ แต่ในการประชุมในครั้งนี้ รมว.สาธารณสุข มอบให้ตนเป็นประธานเพื่อหารือร่วมกับทุกวิชาชีพในเรื่องค่าตอบแทนทั้งระบบ ซึ่งขอยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด และจะทำให้ ฉบับ 8 และ 9 มีความสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ขอให้ทุกคนเชื่อใจ
       
ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 กล่าวว่า กว่า 10 ปีที่วิชาชีพพยาบาลทำงานหนัก และแบกรับภาระงานมากมาตลอด เมื่อเข้าไปโรงพยาบาลคนไข้จะทราบดีว่าพยาบาลมีจำนวนมากและทำงานเหนื่อยแค่ไหน ขณะที่ค่าตอบแทนกลับน้อยมากเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น และเมื่อ สธ. จะปรับค่าตอบแทนใหม่ให้ลดความเหลื่อมล้ำ วิชาชีพพยาบาลก็มีจุดยืน คือ ต้องมีความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำจริงๆ ซึ่งในส่วนพยาบาลต้องการค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับภาระงาน
       
ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นด้วยกับประกาศค่าตอบแทนฉบับ 8.1 ซึ่งเป็นฉบับใหม่แทนฉบับ 4 และ 6 ซึ่งหลายคนมองว่ามีช่องว่างหรือไม่ ดร.กฤษดา กล่าวว่า เบื้องต้นเห็นด้วย แต่จริงๆ หากคณะทำงานค่าตอบแทนที่มีสหวิชาชีพเข้าร่วม มีผลเป็นอย่างไร ถือเป็นมติ ส่วนใครไม่เห็นด้วย ก็เป็นหน้าที่ของ สธ.ดำเนินการ เพราะคณะทำงานชุดนี้ มี สธ.เป็นผู้ตั้ง ดังนั้น หากคณะทำงานชุดนี้ไม่ชอบธรรม ใครจะชอบธรรม
       
"เรื่องค่าตอบแทนของวิชาชีพสาธารณสุข เป็นเรื่องภายใน สธ. ไม่อยากให้โยงการเมือง และที่กลุ่มพยาบาลมากัน ก็เป็นเวรหยุด มีพยาบาลอยู่โรงพยาบาลทุกแห่ง" ดร.กฤษดา กล่าว
       
น.ส.ศิริรัตน์ วงศ์บุดดา ประธานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว สธ. กล่าวว่า การมาเรียกร้องในครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องค่าตอบแทน แต่อยากมาทวงถามความคืบหน้าเรื่องการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ อย่างพยาบาลวิชาชีพที่มีการออกมาเรียกร้องให้บรรจุข้าราชการเมื่อปี 2555 โดย สธ.แก้ปัญหาด้วยการทยอยบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการจำนวน 22,641 อัตรา ในเวลา 3 ปี ครอบคลุม 75% ของลูกจ้างชั่วคราวที่มีอยู่ ซึ่งพยาบาลวิชาชีพเฉลี่ยแล้วควรได้รับการบรรจุปีละ 25% แต่ปีนี้ได้รับการบรรจุแค่ 21% เท่านั้น จึงอยากเรียกร้องให้อีก 2 ปีที่เหลือให้มีการแชร์สัดส่วนการบรรจุให้เหมาะสม โดยขอให้เพิ่มการบรรจุให้พยาบาลวิชาชีพเป็นปีละ 27% หรือประมาณ 4,571 คน

ที่มา : www.manager.co.th

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ฟังความเห็นต่างพีฟอร์พี เมื่อวิชาชีพสาธารณสุขไม่เห็นด้วยกับแพทย์ชนบท