ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม และศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดหน่วยวิจัยเภสัช วิทยา ทางคลินิกด้านชีวสมมูล โดยมี นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม รศ.พญ.เยาวลักษณ์ สุขธนะ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อนและ คณะผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม ผู้บริหารคณะเวชศาสตร์ เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมในพิธี

นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้ายาจากต่างประเทศมากถึงร้อยละ 75 ของยาที่ใช้ทั้งหมด มูลค่าประมาณปีละ 1 แสนกว่าล้านบาท ขณะที่ตลาดยาในประเทศมีมูลค่าประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งยาบางชนิดที่มีมูลค่าการใช้สูงนั้นมีการใช้กันมาอย่างกว้างขวางและใช้กันมานานแล้ว  อีกทั้งยาเหล่านี้มีมูลค่าการใช้สูง และเป็นยาที่มีราคาแพงจะใช้ได้เฉพาะบางโรงพยาบาลเท่านั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว องค์การจึงต้องมีการ วิจัยและพัฒนายาชื่อสามัญมาทดแทนยาเหล่านี้ เพราะจะทำให้ยามีราคาถูกลง และเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ยาชื่อสามัญให้เป็นที่กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมถึงองค์การฯจึงต้องดำเนินการผลิต  และจัดหายาชื่อสามัญ โดยเฉพาะยาชื่อสามัญที่มีปริมาณความต้องการใช้สูง และมีมูลค่าสูง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยามากขึ้น ส่งผลให้การรักษามีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และยังนำมาซึ่งการลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบสาธารณสุขไทย

ศ.นพ.รัชตะ เปิดเผยว่าเนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการวิจัยทางคลินิกอยู่หลายคณะโดยเฉพาะคณะเวชศาสตร์ เขตร้อน ดังนั้นความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยทางคลินิก ด้านชีวสมมูลของยาชื่อสามัญระหว่างองค์การฯ กับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นั้น  มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ในการเห็นความสำคัญของการผลิตยาชื่อสามัญ โดยเฉพาะบริบทขององค์การฯ ซึ่งมีบทบาทในการผลิตยาให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาล ทั้งในยามปกติหรือในภาวะวิกฤติต่างๆ ประกอบกับทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมีอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคเขตร้อน ที่มีศักยภาพ มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านสถานที่ ด้านบุคลากร ด้านวิชาการ เครื่องมือ จึงน่าจะเป็นความร่วมมือที่จะนำไปสู่การทำประโยชน์ให้ประชาชนได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ในราคาเหมาะสม โดยผ่านการทดสอบทางคลินิกในระดับที่ได้มาตรฐานสากล

"ศูนย์ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการศึกษาประสิทธิผลของยาอันเป็นกระบวนการที่สำคัญในการศึกษาวิจัยสูตรตำรับยา เพื่อพิสูจน์ว่ายาชื่อสามัญมีคุณภาพเทียบเท่ากับยาต้นแบบ ส่งผลให้ยามีคุณภาพ ได้ผลการศึกษาที่รวดเร็ว ทันต่อการนำไปใช้ในระบบสาธารณสุขของประเทศ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพต่อไป"

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556