ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - สธ.ส่อป่วน'พยาบาลลูกจ้างชั่วคราว'ประท้วงเรียกร้องค่าตอบแทนเพิ่มยันทำงานหนักเหมือนกัน

กรณีที่บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่ละกลุ่มออกมาคัดค้านนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเตรียมประท้วงกดดันรัฐบาลในวันที่ 26 พฤศจิกายน โดยชมรมแพทย์ชนบทเรียกร้องค่าตอบแทนกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับชมรมฯ พร้อมนัดประท้วงหน้าบ้านนายกรัฐมนตรีในวันที่ 26 พฤศจิกายน และลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพต่างๆ อาทิ พยาบาลวิชาชีพ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฯลฯ เรียกร้องการบรรจุขอตำแหน่งข้าราชการ จะชุมนุมที่กระทรวงสาธารณสุขนั้น ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมพิจารณาค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุข มีสหวิชาชีพต่างๆ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ รังสีการแพทย์ กายภาพบำบัด เข้าร่วมประชุม ยกเว้นตัวแทนแพทย์จากชมรมแพทย์ชนบท วาระการประชุมพิจารณากรณีข้อเรียกร้องของชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน เสนอให้แก้ไขระเบียบประกาศค่าตอบแทนฉบับประชาคมสาธารณสุข โดยให้แก้ไขเป็นฉบับของชมรมแพทย์ชนบทแทน ทั้งนี้ ก่อนการประชุม มีกลุ่มพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลสังกัด สธ. ทั่วประเทศเกือบ 1,000 คน มารวมตัวกันบริเวณใต้อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเรียกร้องค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

นพ.ณรงค์กล่าวหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าจะดำเนินการออกประกาศหลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 8.1 ซึ่งเป็นค่าตอบแทนกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่ปรับสัดส่วนค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมในทุกวิชาชีพ จากเดิมใช้ฉบับ 4 และ 6 และเห็นชอบประกาศหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พี ฉบับที่ 9 ซึ่งเพิ่มเติมเรื่องคุณภาพของงานเข้าไป ทั้งสองฉบับจะเสนอคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐที่มีรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานพิจารณาชี้ขาดในวันที่ 29 พฤศจิกายน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และประกาศใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า เบื้องต้นได้ทำตามที่ชมรมแพทย์ชนบทเรียกร้องแล้ว โดยให้ปลัด สธ.นำข้อเรียกร้องของชมรมฯ เข้าที่ประชุมคณะทำงานค่าตอบแทนฯพิจารณา แต่ในเมื่อที่ประชุมไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ว่าจะจบแค่นี้ เพราะในวันที่ 29 พฤศจิกายน จะนำข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบทเข้าที่ประชุมคณะทำงานชุดใหญ่ที่ผมเป็นประธาน ที่ประชุมจะมีหลายภาคส่วน ทั้งสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และยังมีตัวแทนจากสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สถานพยาบาลสังกัดหน่วยงานอื่น ดังนั้น สิ่งที่ชมรมแพทย์ชนบทเรียกร้อง ตนทำตามขั้นตอนแล้ว เมื่อที่ประชุมไม่เห็นด้วย ต้องรอที่ประชุมอีกชุดวันที่ 29 พฤศจิกายน จึงอยากขอร้องให้ชมรมแพทย์ชนบทเข้าร่วมการประชุม เพราะหากอยากได้ตามที่ขอต้องมาช่วยกันผลักดัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดำเนินการอย่างไรเมื่อชมรมแพทย์ชนบทยืนยันประท้วงหน้าบ้าน นายกรัฐมนตรีในวันที่ 26 พฤศจิกายน นพ. ประดิษฐกล่าวว่า คงทำได้เพียงขอให้คิดดีๆ เพราะตนทำตามข้อเสนอแล้ว ไม่อยากให้นำเรื่องนี้เกี่ยวโยงเป็นเรื่องการเมืองเพราะเป็นการบริหารจัดการภายในของ สธ. ซึ่งจริงๆ เมื่อทำถึงขนาดนี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า คงต้องถือว่า นพ.ประดิษฐเป็นโมฆะบุรุษ เพราะพูดกลับไปกลับมา ไม่เคยทำอย่างที่ได้พูดไว้ ถือว่าเป็นคนที่ไม่มีสัจจะซื้อเวลาไปวันๆ วันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ ชมรมแพทย์ชนบทจะเดินทางไปแสดงเจตนารมณ์ที่บ้านนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ส่วนการที่จะบังคับให้กลุ่มแพทย์ชนบทเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการถือเป็นการสร้างความแตกแยกในกลุ่มวิชาชีพ แบ่งแยกการปกครอง เพราะวิชาชีพที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการสร้างพวกเป็นกันชนให้ตนเอง

นางจงกล อินทสาร ประธานชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน กล่าวว่า ชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนและสภาการพยาบาล มีความตั้งใจที่จะดำเนินการให้มีการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ เพราะเป็นทีมสุขภาพด้วยกัน แต่การประชุมเพื่อตัดสินใจเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนในครั้งนี้ มีบางกลุ่มต้องการให้วิชาชีพของแพทย์ได้ก่อน โดยให้วิชาชีพอื่นเสียสละ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ว่าเพราะเหตุใดต้องให้คนที่มีรายได้น้อยเสียสละให้คนที่มีรายได้มากกว่า การทำงานร่วมกันแต่ละวันมีค่าตอบแทนต่างกันถึง 27 เท่า จะเป็นไปได้อย่างไร และไม่มีประเทศใดในโลกที่ทำกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมได้แจกเอกสารรายละเอียดค่าตอบแทนเปรียบเทียบเอกสารรายละเอียดค่าตอบแทนเปรียบเทียบระหว่างฉบับ 8.1 และฉบับ 10 ที่ชมรมแพทย์ชนบทเสนอ ยกตัวอย่าง ค่าตอบแทนของเภสัชกรฉบับ 8.1 กรณีเภสัชกรประจำพื้นที่ชุมชนเมือง หากทำงานตั้งแต่ปีที่ 1-3 ได้รับ 2,500 บาท พื้นที่ปกติได้รับ 3,500 บาท พื้นที่เฉพาะระดับ 1 ได้รับค่าตอบแทน 8,000 บาท พื้นที่เฉพาะระดับ 2 (ทุรกันดารมาก) 13,000 บาท ขณะที่ฉบับ 10 แบ่งออกเป็นพื้นที่ปกติ/ชุมชนเมือง หากทำงานปีที่ 1-3 ได้รับ 3,000 บาท พื้นที่เฉพาะหรือทุรกันดารระดับ 1 ได้รับ 8,000 บาท ทุรกันดารระดับ 2 ได้รับ 13,000 บาท ส่วนพยาบาล ฉบับ 8.1 หากทำงานปีที่ 1-3 พื้นที่ชุมชนเมืองได้รับ 1,200 บาท พื้นที่ปกติได้รับ 1,200 บาท พื้นที่เฉพาะระดับ 1 ได้รับ 2,000 บาท พื้นที่เฉพาะระดับ 2 ได้รับ 3,500 บาท ส่วนฉบับ 10 กรณีทำงานปีที่ 1-3 ในพื้นที่ปกติ/ชุมชนเมืองได้รับ 1,200 บาท ทุรกันดารระดับ 1 ได้รับ 1,500 บาท ทุรกันดารระดับ 2 ได้รับ 3,000 บาท เป็นต้น ส่วนแพทย์/ทันตแพทย์ ฉบับแก้ไขใหม่ปรับลดประมาณครึ่งหนึ่งในพื้นที่ปกติ แต่ในกรณีพื้นที่ทุรกันดารสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่มีการปรับลดใดๆ ขณะที่ฉบับ 10 เสนอให้พื้นที่ปกติ หากทำงานปีที่ 1-3 ได้รับค่าตอบแทน 10,000 บาท ปีที่ 4-10 ได้รับ 30,000 บาท ปีที่ 11-20 ได้รับ 40,000 บาท และปีที่ 21 ขึ้นไปได้รับ 50,000 บาท

นายวัฒนะชัย นามตะ ประธานชมรมสหวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ 24 สายงานกว่าพันคนยืนยันจะเดินทางมาเรียกร้องที่ สธ. ในวันที่ 26 พฤศจิกายน หากไม่ได้ตามข้อเรียกร้องจะขอค้างคืนอย่างต่ำเป็นเวลา 1-2 คืน ทั้งนี้ ไม่อยากให้การเรียกร้องของตนไปอิงการเมือง เพราะขณะนี้มีโทรศัพท์ชักจูงให้ไปร่วมการชุมนุมเช่นกัน แต่ทางกลุ่มขอปฏิเสธ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องภายใน สธ.

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า เดิมที ครม.มีมติอนุมัติให้บรรจุตำแหน่งข้าราชการจำนวน 22,641 อัตราภายในระยะเวลา 3 ปีคือ ปี 2556-2558 โดยให้อัตราปีละประมาณ 7,547 อัตรา การพิจารณาจะดูตามสัดส่วนของแต่ละสายงาน ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 25 สายงาน อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 ไม่มีปัญหา แต่ในปี 2557 มีการเรียกร้องขอให้จัดสรรตำแหน่งอย่างเป็นธรรม เพราะมีเรื่องเส้นสาย อิงพวกพ้อง สธ.เตรียมการแก้ปัญหาโดยจะเปิดช่องให้ยื่นอุทธรณ์ผ่านขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่จังหวัด เขตบริการสุขภาพ และสามารถอุทธรณ์ไปยังกระทรวงโดยตรงหากเห็นว่าการอุทธรณ์ขั้นแรกๆ ไม่ได้รับความเป็นธรรม

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 27 พ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--