ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยันข้อความในเน็ต "วางน้ำแข็งแห้งในรถอันตราย" จริง เหตุเก็บไว้ในภาชนะปิดสนิท ไม่มีการระบายอากาศ เสี่ยงต่อการระเบิด ชี้เก็บไว้ในรถหรือพื้นที่จำกัด ต้องมีการระบายอากาศ พร้อมเตือนอย่าจับด้วยมือเปล่า เพราะผิวอาจไหม้จากความเย็นจัดได้

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการโพสต์ข้อความทางอินเทอร์เน็ตถึงอันตรายของน้ำแข็งแห้ง ซึ่งเมื่อนำมาวางในรถแล้วจะระเหิด จนทำให้คนที่อยู่ภายในรถหายใจไม่ออกและเสียชีวิต ว่า น้ำแข็งแห้ง หรือ ดรายไอซ์ (dry ice) หรือคาร์บอนไดออกไซด์แข็ง (solid carbon dioxide) คือ คาร์บอนไดออกไซด์ในสถานะของแข็งมีความเย็นจัดถึงลบ 79.5 องศาเซลเซียส เมื่อน้ำแข็งแห้งระเหิดจะไม่หลอมละลายเป็นของเหลว แต่จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ให้ความเย็นมากกว่าน้ำแข็ง 2-3 เท่า ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวปัจจุบันจึงมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารประเภทไอศกรีมนม เบเกอรี ไส้กรอกและเนื้อสัตว์ เพื่อถนอมอาหารในขั้นตอนการผลิต ขนส่ง หรือจัดเก็บสำหรับเสิร์ฟบนเครื่องบิน หรือใช้ขนส่งเวชภัณฑ์ และทำหมอกควันประกอบการแสดง
       
นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากใช้น้ำแข็งแห้งไม่ถูกวิธีหรือใช้โดยขาดความระมัดระวัง ผู้ใช้ก็อาจได้รับอันตรายได้ ถึงแม้ว่าโดยส่วนใหญ่น้ำแข็งแห้งจะใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่ผู้บริโภคโดยทั่วไปก็อาจได้รับอันตรายจากน้ำแข็งแห้งที่ใช้แช่อาหารหรือไอศกรีมได้ ผู้บริโภคจึงควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษห้ามใช้มือเปล่าสัมผัสน้ำแข็งแห้งโดยตรง เพราะจะทำให้ผิวหนังไหม้จากความเย็นจัด จะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อน ควรสวมถุงมือหรือใช้กระดาษห่อก่อนสัมผัส เพื่อป้องกันการสัมผัสถูกน้ำแข็งแห้งโดยตรง กรณีถูกน้ำแข็งแห้งกัดให้ล้างมือทันทีด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากและไปพบแพทย์ และไม่ควรจัดเก็บน้ำแข็งแห้ง ไว้ในภาชนะปิดสนิทหรือห้องที่ไม่มีช่องระบายอากาศ เพราะอาจเสี่ยงต่อการระเบิด เนื่องจากแรงดันที่เกิดขึ้นจากการระเหิดกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสะสมจนถึงระดับที่สามารถระเบิดได้ โดยเฉพาะขณะขนส่ง
       
"หากใช้หรือเก็บไว้ในพื้นที่จำกัด เช่น ในรถ หรือห้องแสดงคอนเสิร์ต จำเป็นต้องมีการระบายอากาศที่ดี ควรเก็บแยกกับห้องโดยสารรถยนต์และเก็บไว้ในภาชนะที่มีช่องระบายอากาศ หากจำเป็นต้องขนส่งภายในห้องโดยสาร ควรเปิดกระจกทุกด้าน เพื่อให้มีก๊าซออกซิเจนจากภายนอกไหลเวียนเข้ามาภายในรถ รวมทั้งป้องกันการขาดอากาศหายใจ เพราะน้ำแข็งแห้งจะระเหิดออกมาเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้หมดสติได้" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
       
นพ.อภิชัย กล่าวด้วยว่า หากใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ไอศกรีมละลาย ควรห่อน้ำแข็งแห้งด้วยกระดาษหรือบรรจุในถุงกระดาษ ให้เรียบร้อยอย่างมิดชิด และหากจำเป็นต้องแบ่งน้ำแข็งแห้ง ควรระมัดระวังน้ำแข็งแห้งกระเด็นเข้าตา ส่วนการนำไปใช้ประกอบการแสดงคอนเสิร์ต หรือละครเวที ควรจัดให้มีระบบระบายอากาศด้านล่างที่ดี เนื่องจากเมื่อน้ำแข็งแห้งระเหิดจะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าอากาศ ทำให้ลอยอยู่ในระดับต่ำและที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือห้ามจัดเก็บน้ำแข็งแห้งปริมาณมากๆ ในห้องแคบหรือห้องที่มีเพดานต่ำมีระบบระบายอากาศไม่ดีพอ เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะระเหิดออกมาแทนที่ก๊าซออกซิเจน อาจทำให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ และที่สำคัญควรจัดเก็บให้พ้นมือเด็กเพื่อป้องกันการหยิบมาเล่น