ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หัวใจของพีฟอร์พีคือ มีการวัดผล จะช่วยในเชิงบริหาร โดยผู้อำนวยการหรือหัวหน้าทีมจะได้รู้ว่าผลงานของลูกทีมเป็นอย่างไร ถ้าจะประเมินองค์กรหรือหน่วยงานว่ามีผลงานที่ดีไหม สามารถรับใช้ประชาชนได้หรือไม่ ก็ต้องมีการวัดผล ทั้งปริมาณและคุณภาพ การทำพีฟอร์พีจะมีผลพลอยได้ตามมาอีกมาก และถ้าไม่เอาเรื่องเงินมาเกี่ยว ก็เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำอยู่แล้ว เพราะเป็นการวัดผล เพื่อจะได้ปรับปรุงคุณภาพ เป็นสิ่งที่ประชาชนได้แน่ๆ

"10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 เท่าตัว ในภาพรวมงบประมาณของประเทศไทยด้านสุขภาพใช้ไปประมาณ ร้อยละ 15 ของงบประมาณทั้งหมด หากปล่อยให้งบประมาณด้านสุขภาพโตไปเรื่อยๆ ไม่ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ ก็จะไปกินงบประมาณลงทุนของประเทศ รวมทั้งในอีก 22 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น เป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด จากประสบการณ์ของญี่ปุ่นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เพราะคนสูงอายุต้องการการดูแลที่มากกว่าคนปกติหนุ่มสาว จึงเป็นอีกเหตุผลที่รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนนั้น มีประโยชน์ทั้งต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ด้วย ในส่วนเจ้าหน้าที่ ในหลักการตามมติคณะรัฐมนตรี การจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจะเป็นการสะท้อนการอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ยาก ขาดแคลน ต้องจ่ายเป็นอัตราคงที่ และอีกส่วนคือ การจ่ายตามผลการปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พี เป็นการจ่ายเพิ่มเติมสำหรับคนทำงานเกินเกณฑ์ หลักการนี้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ส่วนรายละเอียด เช่น พื้นที่ วิธีการจ่าย วิธีการเก็บคะแนนและวงเงินที่จ่ายนั้น ในระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 8 และฉบับที่ 9 ก็เปิดให้ปรับเพื่อให้สอดคล้อง และไม่แข็งตัวเกินไป เป็นอำนาจของผู้ตรวจราชการและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข"

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 พฤศจิกายน 2556