ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - วันที่ 1  ธันวาคมของทุกปี สหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวัน "เอดส์โลก" ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปเกิดความตระหนักถึงปัญหา โรคเอดส์ และความสำคัญที่จะต้องร่วมมือกันป้องกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งสร้างความเข้าใจและให้กำลังใจกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของโลกมาอย่างยาวนานร่วม 30 ปี

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั่วโลกมีคนติดเชื้อรายใหม่ปีละประมาณ 5-6 ล้านคน ส่วนคนไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 12,000-16,000 คน / ปี อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โรคเอดส์ถือว่ามีความรุนแรงน้อยลง เพราะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลง รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตก็น้อยลงด้วย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ในโอกาสวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม 2556 ว่า ในปัจจุบัน อัตราการติดเชื้อเอชไอวีของประชากรทั่วไปในกลุ่มประเทศอาเซียนแตกต่างกันตั้งแต่ร้อยละ 0.3 ขึ้นไป เมื่อเทียบกับประเทศแถบอัฟริกาใต้ถือว่าดีกว่ามาก เพราะมีอัตราการติดเชื้อในประชากรทั่วไปสูงถึงร้อยละ 10-20

อย่างไรก็ตามอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มติดยาเสพติดโดยการฉีด และกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในประเทศกลุ่มอาเซียนจะสูงกว่าอัตราการติดเชื้อในประชากรทั่วไป 10-30 เท่า

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ออกมายอมรับปัญหาและผลกระทบของเอดส์ ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเอดส์ดีขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ในขณะที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เพิ่งจะตื่นตัวในช่วงปีสองปีนี้เองเพราะสถานการณ์การระบาดรุนแรง ขึ้นมาก

ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกว่ามีการศึกษา วิเคราะห์ และบริหารจัดการกับปัญหาเอดส์ดีที่สุด และก้าวหน้าที่สุดประเทศหนึ่ง มีการกล่าวยกย่องในหลายๆ เวทีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก มีการมาศึกษาดูงาน และเชื้อเชิญให้ไปช่วยประเทศอื่นๆ

ด้านการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมดในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อมาจากงบประมาณของรัฐบาล ในขณะที่กัมพูชาและอีกหลายประเทศในอาเซียนใช้เงินจากกองทุนโลกเป็นหลักในการรักษาผู้ติดเชื้อซึ่งไม่มีความยั่งยืน ประเทศไทยมีองค์การเภสัชกรรมซึ่งผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ที่มีคุณภาพและมีราคาถูก จากการประกาศการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรือซีแอลกับยาต้านไวรัสเอดส์ 2 รายการมาใช้กับประชาชนอย่างได้ผล นอกจากนี้ ยังมี การบริหารจัดการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ฟรีกับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. หรือ บัตรทอง) อย่างมีประสิทธิภาพ มีการรักษาความลับผู้ป่วยอย่างดีเยี่ยม และมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในส่วนกลางอย่างดี

ด้านการศึกษาวิจัยเรื่องการรักษา ประเทศไทยก็มีองค์กรอย่าง HIV-NAT ของสภากาชาดไทยที่ทำการศึกษาวิจัยการรักษาเอดส์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก และมีองค์กร SEARCH ของสภากาชาดไทยที่ทำการวิจัยการรักษา ผู้ติดเชื้อในระยะติดเชื้อใหม่ๆ ที่อาจนำไปสู่การรักษาให้หายขาดได้ซึ่งเป็นข่าวที่ดังไปทั่วโลกเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา นอกจากนี้โครงการ Test and Treat ที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยทำร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจเอดส์เป็นประจำและเริ่มการรักษาด้วยยาต้านฯ ทันทีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง โดยหวังว่าจะสามารถลดการแพร่ระบาดของเอดส์ในกลุ่มประชากรนี้ลง ก็เป็นโครงการ Test and Treat อันแรกของอาเซียน ซึ่งกำลังจะมีประเทศเวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซียทำตามในปีหน้า

เรื่องนโยบายด้านการรักษา ประเทศไทยก็เป็นผู้นำ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการขยายการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ให้ครอบคลุมผู้ติดเชื้อมากขึ้น และเริ่มการให้ยาเร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้ป่วยหรือภูมิต้านทานต่ำมากๆ ก่อน เพื่อประโยชน์ของผู้ติดเชื้อเอง และเพื่อประโยชน์ในการลดการส่งต่อเชื้อให้ผู้อื่น ซึ่งรู้จักกันในชื่อของ Treatment as Prevention (TasP) โดยจะเริ่มเกณฑ์การให้ยาต้านฯ ที่ระดับ CD4 ต่ำกว่า 500 ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ตั้งแต่ต้นปี 2557 (ปัจจุบันให้ยาต้านฯ เมื่อ CD4 ต่ำกว่า 350) และมีนโยบายซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วที่จะให้ยาต้านฯ แก่ผู้ติดเชื้อ ทุกคนไม่ว่า CD4 จะเท่าไรก็ตามในปีงบประมาณ 2558 อย่างที่สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสดำเนินการอยู่ นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้ติดเชื้อไทย และนโยบายนี้จะช่วยลดการติดเชื้อรายใหม่ในอนาคตได้ เพราะการทานยาต้านฯ อย่างถูกต้องจะลดการส่งต่อเชื้อให้ผู้อื่นได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ในด้านการป้องกัน ประเทศไทยก็มีชื่อเสียงเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย 100% ในกลุ่มหญิงบริการ และมีชื่อเสียงเรื่องการป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก  โดยหญิงตั้งครรภ์กว่าร้อยละ 95 ได้รับการตรวจเอดส์ ถ้าตรวจเจอก็จะได้รับยาต้านฯ สูตรที่ดีที่สุดในการป้องกันการถ่ายทอดเอดส์ไปสู่ลูก นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังมีแผนที่จะให้ยาต้านฯ แก่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อทุกรายต่อเนื่องหลังคลอดไปตลอดชีวิต ไม่ต้องรอให้ภูมิต่ำก่อนค่อยมาเริ่มยาใหม่ ซึ่งก็จะทำให้แม่มีสุขภาพที่ดีขึ้น และแถมยังสามารถป้องกันสามีที่อาจยังไม่ติดเชื้อได้ด้วย ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคลินิกนิรนามของสภากาชาดไทยเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในการให้บริการตรวจเอดส์ที่มีคุณภาพและไม่ต้องบอกชื่อ มีการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันและการส่งต่อผู้ติดเชื้อไปรับการรักษาที่ถูกต้องภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว มีบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากทวารหนักในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุยให้ตรวจเอดส์ การมีคลินิกนิรนามเคลื่อนที่ไปตามห้างสรรพสินค้า และสถานบันเทิงของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และการที่รัฐบาลให้สิทธิ์คนไทยทุกคนตรวจเอดส์ฟรีปีละ 2 ครั้ง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันคนจะเข้าใจผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่จากการรณรงค์ด้วยภาพที่น่ากลัวในอดีต ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงได้รับการกีดกัน และ ถูกรังเกียจจากคนในสังคมอยู่ ซึ่งอคตินี้จะยังไม่หมดไปง่ายๆ ด้วยเหตุนี้ คนไทยจำนวนมากจึงยังกลัวเอดส์อย่างไร้เหตุผล ไม่กล้าไปตรวจ ไม่กล้าไปรักษา และพลอยรังเกียจผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่ถูกตีตราว่าเป็น "กลุ่มเสี่ยง" ไปโดยไม่รู้ตัว

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องเข้าใจผู้ติดเชื้อ ตระหนักถึงการตรวจเอชไอวี เหมือนการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อป้องกันสุขภาพ และหากรู้ว่าติดเชื้อก็จะได้รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ "ตรวจเพื่อก้าวต่อ เอชไอวีป้องกันได้ เอดส์รักษาได้" ประโยคนี้ต้องจำขึ้นใจ

น่ารู้เรื่องเอดส์

1) คนไทยทุกคนทุกสิทธิ์ตรวจเอดส์ได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง

2) เอดส์เป็นโรคที่รักษาได้แม้จะไม่หายขาด

3) คนไทยที่ติดเชื้อทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาฟรี โดยไม่มีผลกระทบต่อการจ้างงาน

4) ยิ่งรู้ตัวเร็ว รักษาเร็ว ก็ยิ่งได้ผลการรักษาดีขึ้น ไม่ป่วยหรือเสียชีวิตจากเอดส์ รวมทั้งมีอายุขัย เท่ากับคนที่ไม่ติดเชื้อถ้าดูแลสุขภาพดีๆ

5) ถ้ารักษาไปแล้วเกิน 6 เดือน คนๆ นั้นจะ ไม่สามารถแพร่หรือส่งต่อเชื้อให้กับใครได้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป

6) ผู้ติดเชื้ออีกราวครึ่งหนึ่งหรืออีกประมาณ 3 แสนคนทั่วประเทศยังไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ เพราะไม่เคยไปตรวจ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่ 2 ธันวาคม 2556