ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันนี้ (4 ธันวาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุมทางการเมือง ที่นอนพักรักษาตัวในวชิระพยาบาล และโรงพยาบาลหัวเฉียวฯ ทุกรายอาการปลอดภัย

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า วันนี้มาเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะกัน โดยที่วชิระพยาบาลรับผู้บาดเจ็บไว้ 135 ราย เหลือนอนรักษาในโรงพยาบาล 3 ราย ไม่มีบาดเจ็บร้ายแรง รัฐบาลแสดงความเสียใจต่อผู้ที่บาดเจ็บทุกคน ไม่สบายใจที่คนไทยต้องมาบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ อยากแสดงความรับผิดชอบ และส่งข้อความถึงทุกคนว่าอยากให้ปรองดอง อยู่กันอย่างสันติ มาหารือกันเพื่อหาทางออกต่อสังคม ส่วนจำนวนผู้บาดเจ็บสะสมจนถึงวันนี้รวม 285 ราย นอนรักษาในโรงพยาบาล 19 ราย เสียชีวิต 4 ราย

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า การจัดบริการรองรับการชุมนุม กระทรวงสาธารณสุข ยังคงทีมแพทย์ฉุกเฉินไว้ตลอด 24 ชั่วโมงจนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย โดยการเข้าไปรับผู้ป่วยผู้บาดเจ็บในพื้นที่ที่มีการปะทะ จะเป็นทีมกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (BLS) ของมูลนิธิต่างๆ และทีมกู้ชีพขั้นสูง (ALS) จากโรงพยาบาลต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี ซึ่งมีความคล่องตัวมากกว่าทีมแพทย์ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรม นำคนป่วยมาส่งในจุดที่นัดหมายกันไว้เพื่อส่งต่อไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งโรงพยาบาลราชวิถีจะเป็นหน่วยที่ประสานจำนวนเตียงในโรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษารวดเร็ว มีเตียงรองรับแน่นอนหากต้องนอนพัก

ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับความร่วมมือจากทีมกู้ชีพของมูลนิธิต่างๆ ซึ่งเป็นทีมกู้ชีพขั้นพื้นฐานเข้าไปอยู่ในพื้นที่ ร่วมกับทีมกู้ชีพขั้นสูงกว่า 20 ทีมประจำการรอที่จุดนัดหมาย 5 จุด รอบๆ พื้นที่การชุมนุมทุกพื้นที่ หากมีผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บอาการรุนแรงหรือต้องการการรักษามากกว่าทีมพื้นฐาน ทีมแพทย์จะประสานมาที่ศูนย์บัญชาการการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ส่วนหน้า ที่โรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยินดีสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ น้ำเกลือ ให้ทีมแพทย์ทุกสังกัดเพื่อดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเน้นระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยทีมกู้ชีพ เพราะเรามีโรงพยาบาลใกล้ๆ จุดชุมนุม การนำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลจะปลอดภัยกว่า

และในวันนี้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงการคลัง ที่จะนำโรงพยาบาลยาสูบ มาสร้างเป็นหน่วยบริการดูแลคนกรุงเทพมหานคร ให้มีจุดรับบริการมากขึ้น เป็นก้าวแรก และต่อไปจะร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม เพื่อสร้างหน่วยบริการประชาชนบริเวณเขตดอนเมือง เพื่อรองรับการขยายตัวของจำนวนประชาชนในกรุงเทพมหานคร ที่มีประชากรและพื้นที่มาก เป็นการเติมเต็มระบบบริการร่วมกับกรุงเทพมหานคร