ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานประกันสังคม จัดแถลงข่าวใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การกำหนดรหัสประเภทกิจการกองทุนเงินทดแทน การขยายความคุ้มครองมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 การจ่ายสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพที่เป็นเงินบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน และแผนการลงทุนปี 2557 ในการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ เพื่อชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนและผู้ประกันตนทั่วประเทศได้รับทราบ และสามารถใช้สิทธิของตนเองได้อย่างถูกต้อง ณ สำนักงานประกันสังคมจ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แผนงานและทิศทางการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ปี 2557 คาดว่าดอกเบี้ยพันธบัตรในตลาดโลกจะอยู่ในขาขึ้น การลงทุนในพันธบัตรจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษสปส.จะเน้นการลงทุนในพันธบัตรประเทศเกิดใหม่ ที่มีเศรษฐกิจ แข็งแกร่งและมีหนี้น้อย โดยเน้นการลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น-กลาง ซึ่งตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วน่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาในขณะที่แนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 2557 ไม่ค่อยสดใสนักจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนเริ่มชะลอตัวลงจากปีก่อน สปส.จึงมีนโยบายคงสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไว้เท่าเดิมที่ 7-12% และทยอยลงทุนในหุ้นต่างประเทศสัดส่วนไม่เกิน 4% เน้นลงทุนในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (สหรัฐฯยุโรป และญี่ปุ่น)

"นอกจากนี้จะทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทางเลือกซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้และให้ผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว โดยจะกระจายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ไม่เกิน 3% กองทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่เกิน2% และกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์และทองคำ ไม่เกิน 1.5% โดยคาดว่าปี 2557 จะได้รับผลตอบ แทนการลงทุนประมาณ 45,000 ล้านบาท"

ด้านดร.อำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกล่าวว่า ในส่วนของการจ่ายสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพที่เป็นเงินบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน จะมีเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญชราภาพ คือ ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ทั้งนี้ กรณีผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี ส่งเงินสมทบตั้งแต่180 เดือนขึ้นไป ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ในกรณีผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี ส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเพิ่มกรณีจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน โดยปรับเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน และกรณีผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน (5ปี) นับจากเดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน10 เท่าของเงินบำเหน็จชราภาพรายเดือนที่ได้รับก่อนเสียชีวิต

ทั้งนี้ สปส.ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางเลือกที่ 3 (เงินบำนาญชราภาพ) ให้แก่แรงงานนอกระบบที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยทางเลือกที่ 3 กำหนดเงินสมทบเดือนละ 200 บาท ในระยะแรกให้สิทธิแก่ผู้ประกันตนจ่ายเงินเข้ากองทุนเพียงเดือนละ 100 บาท รัฐบาลร่วมจ่ายเงินอุดหนุน 100 บาท เท่ากับมีเงินออมเดือนละ 200 บาท โดยสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปและเฉพาะทางเลือกที่ 3 สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังไปถึงเดือนพฤษภาคม2555 ได้ รัฐบาลก็จะร่วมจ่ายเงินอุดหนุนให้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมยังเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 -8 ธันวาคม 2557 เท่านั้น ซึ่งแรงงานนอกระบบที่มีอายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไป จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะกรณีชราภาพเพียงกรณีเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้

สำหรับ รศ.ดร.วิจิตต์ศรี สงวนวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน กล่าวว่า สปส.ได้มีการปรับปรุงรหัสประเภทกิจการกองทุนทดแทน จากจำนวน 16 หมวด 131 รหัส เป็น 21 หมวดใหญ่1,091 รหัส ตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยปี 2552 (TSIC-2009) เพื่อรองรับประเภทกิจการของนายจ้างทุกประเภทที่ขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทน ซึ่งรหัสประเภทกิจการตามมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย (TSIC)21 หมวดใหญ่ ได้แก่ A: เกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง B: การทำเหมืองแร่เหมือนหิน C: การผลิต D: ไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศ E:การจัดหาน้ำ การจัดการ และการบำบัดน้ำเสีย ของเสีย F: การก่อสร้าง G:การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมรถยนต์ H: การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าI : ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร J : ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร K : กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย L : กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ M: กิจกรรมทางวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคนิค N : กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน O :การบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และสำนักงานประกันสังคมภาคบังคับ P :การศึกษา Q : กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ R : ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ S : กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ T : กิจกรรมการจ้างงานในครัวเรือนส่วนบุคคล กิจกรรมการผลิตสินค้า และ U : กิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศและภาคีสมาชิก เป็นต้น