ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ นายสุรชัย เบ้าจรรยา  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการนานาชาติ Caries Control throughout life in Asia เรื่องการกำหนดแนวทางในการลดปัญหาฟันผุของประเทศในภูมิภาคพื้นเอเชีย โดยมีผู้แทนจาก 18 ประเทศ ในทวีปเอเชีย ประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย เนปาล ฮ่องกง ไต้หวัน ภูฏาน บรูไน และประเทศไทย เข้าร่วมประชุมเพื่อลดปัญหาฟันผุของประชากรภายในประเทศต่อไป

นายสุรชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคฟันผุเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และอาจจะส่งผลกระทบไปถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนาในแถบเอเชีย ทั้งด้านการกินอาหาร การพูด บุคลิกภาพ และการเข้าสังคม แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการควบคุมป้องกันและรักษาฟันผุอย่างต่อเนื่อง แต่ผลจากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพประเทศไทยครั้งที่ 7 พ.ศ. 2555  พบว่าเด็กเล็กอายุ 3-5 ขวบ มีฟันน้ำนมผุร้อยละ 52 และ 79  เด็กวัยเรียนอายุ 12-15 ปี  มีฟันแท้ผุร้อยละ 52-62  กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ มีฟันผุร้อยละ 87 และ 97 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชน พฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะเด็กชอบทานขนมและอาหารที่หาซื้อได้ง่าย เช่น  น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ เป็นต้น  ซึ่งจะมีผลต่อน้ำหนักด้วย พฤติกรรมการบริโภค ของเด็กที่นิยมกินอาหารหรือขนมที่หาซื้อได้ง่าย เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาฟันผุในเด็ก ยังก่อให้เกิดความเจ็บปวด การติดเชื้อ และสร้างปัญหาการบดเคี้ยวอาหาร ซึ่งมีผลต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโต และบุคลิกภาพของเด็ก ที่สำคัญคือมีผลกระทบต่อการเรียน ทำให้เด็กหยุดเรียน และปัญหาฟันผุซึ่งนำไปสู่การสูญเสียฟันในวัยเด็กยังอาจสะสมจนกลายเป็นการสูญเสียฟันทั้งปากในวัยสูงอายุตามมา

นอกจากผลกระทบด้านการเจริญเติบโต และบุคลิกภาพแล้ว ที่สำคัญยังก่อให้เกิดความเจ็บปวด และโรคอื่น ๆ ตามมา โดยพบว่าปัญหาฟันผุนั้น ทำให้เด็กต้องหยุดเรียนถึงปีละประมาณ 400,000 คน และปัญหาฟันผุยังทำให้สูญเสียฟันในช่วงวัยเด็กด้วย

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--